Tuesday, December 9, 2014

ความบาดหมางระหว่างราชสำนักอังกฤษกับราชสำนักไทยอันเนื่องมาจากกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ (2):

ความบาดหมางระหว่างราชสำนักอังกฤษกับราชสำนักไทยอันเนื่องมาจากกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ (2):

คำแปลฉบับเต็ม บันทึกการสนทนาระหว่างลอร์ดหลุยส์ เม้าท์แบตเตน กับพระองค์เจ้าธานีนิวัติ เกี่ยวกับกรณีสวรรคต (หน้า 1 ใน 3 หน้า)
...............
อ่านตอนที่ (1) ของซีรีส์นี้ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=760034464049835

ในกลางปี 1948 (2491) พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองที่ปรึกษาคนสำคัญที่สุดของในหลวงองค์ปัจจุบัน (อีกท่านหนึ่งคือ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระชัยนาทนเรนทร ขณะนั้นทั้งสองมีตำแหน่งเป็น อภิรัฐมนตรี, และประธานอภิรัฐมนตรี ต่อมาได้เป็นประธานองคมนตรีต่อเนื่องกัน กรมพระชัยนาท เป็นคนแรก) ได้เดินทางไปพบ ลอร์ดหลุยส์ เม้าท์แบตเตน ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดีย (ในระหว่างทางที่จะเสด็จไปเฝ้าในหลวงที่โลซานน์)

จุดมุ่งหมายสำคัญของพระองค์เจ้าธานี ในการไปพบเม้าท์แบตเตนคือ เพื่อเจรจาขอให้ในหลวงได้ไปศึกษาที่อังกฤษ เพื่อเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับราชสำนักที่นั่น อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ในระหว่างการสนทนา ลอร์ดเม้าท์แบตเตน (ซึ่งเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษคนหนึ่งด้วย) ได้ยกกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ขึ้นมาพูด (อ่านจากบันทึกการสนทนา จะเห็นว่า เขารอโอกาสจะพูดเรื่องนี้อยู่ พอพระองค์เจ้าธานีถามขึ้นมาว่า มีข้อเสนออะไรต่อในหลวงไหม เขาเลยถือโอกาสพูดเสียเลย) เม้าท์แบตเตน ได้เสนอทฤษฎีตามความเห็นของเขาว่า กรณีสวรรคตเกิดขึ้นได้อย่างไร*

*[เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านบางท่าน "ตื่นเต้น" เกินกว่าเหตุนะครับ ผมขอย้ำว่า ความเห็นของเม้าท์แบตเตนนี้ ‪#‎ไม่ใช่‬ "หลักฐาน" สำหรับยืนยันว่า กรณีสวรรคตเกิดขึ้นแบบนั้น - อันที่จริง กรณีสวรรคตเกิดขึ้นอย่างไรนั้น ไม่ใช่เรื่องยากจะอธิบาย และใครที่ศึกษาเรื่องนี้จริงๆก็ยากจะมีข้อสรุปแบบอื่นได้ - ความน่าสนใจของบันทึกการสนทนาของเม้าท์แบตเตนกับพระองค์ธานีนี้ อยู่ที่ประเด็นอื่น คือประเด็นเกี่ยวกับความบาดหมางของสองราชสำนัก อันเนื่องมาจากกรณีสวรรคต - พูดอีกอย่างคือ เอกสารนี้เป็นหลักฐานยืนยันเฉพาะในแง่ว่า ในแวดวงผู้ปกครองต่างประเทศ (ไมใช่อังกฤษเท่านั้น อเมริกันด้วย) ล้วนมีข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีสวรรคตเช่นนี้ (อย่างทีบอกว่า ใครที่ศึกษาเรื่องนี้จริงๆ ยากจะมีข้อสรุปแบบอื่น เม้าท์แบตเตนเองก็พูดแบบนี้ในบันทึก) และความบาดหมางนี้จะกินเวลานานไปถึงราว 10 ปี]

ที่ผ่านมา ผมเคยพูดถึงบันทึกนี้มาก่อน และนำเสนอบางส่วน อย่าง "เซ็นเซอร์" บางข้อความออก ( http://goo.gl/1ckJ9r ) ข้างล่างนี้ คือคำแปลบันทึกฉบับเต็มไม่เซ็นเซอร์ (พร้อมรูปประกอบตัวบันทึกจริง ซึ่งเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุอังกฤษ - ขอบคุณ "มิตรสหายบางท่าน" ที่ช่วยกรุณาถ่ายมาให้นานแล้ว)
ผมจะแยกคำแปลออกเป็นหน้าๆ รวม 3 หน้า ตามต้นฉบับ และแยกเป็นกระทู้ต่อๆกัน และจะมาตั้งข้อสังเกตและอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนทนาระหว่างเม้าท์แบ ตเตนกับพระองค์เจ้าธานี นี้ ในกระทู้ต่อๆไปของซีรีส์นี้
.........................
บันทึกการสนทนาระหว่าง ลอร์ด เมานท์แบทเตน กับ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ แห่งสยาม
เมื่อเวลา 16.16 น. วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 1948

1. พระองค์เจ้าธานี บอกข้าพเจ้าว่า เขาได้เดินทางมาเดลฮีเป็นการเฉพาะ ในฐานะตัวแทนของพระราชวงศ์สยาม เพื่อขอคำแนะนำของข้าพเจ้าเกี่ยวกับอนาคตของพระมหากษัตริย์สยาม โดยเฉพาะเรื่องว่าพระองค์ควรที่จะทรงเสด็จเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตราชสำนักของที่นั่นและเกี่ยวกับกองทัพของที่ นั่น หรือไม่ พระองค์เจ้าธานีกล่าวว่า ทั้งนี้เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นที่นับถืออย่างกว้างขวางในประเทศของเขาว่าเป็น มิตรของประเทศสยามคนหนึ่งและเป็นที่นับถือของพระราชวงศ์ของเขาว่าเป็นมิตร พิเศษของพระราชวงศ์สยาม

2. ข้าพเจ้าบอกพระองค์เจ้าธานีนิวัติว่า ข้าพเจ้าเคยแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในพระบรมโกษฐ์ของสยามว่า ท่านควรเสด็จเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกองทัพของที่นั่น โดยที่อาจจะทรงสมัครเข้าประจำอยู่กับหน่วยทหารบางหน่วยของที่นั่นหรือเสด็จ เยือนบางหน่วยเป็นกรณีพิเศษ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้าพเจ้าคิดว่าคำแนะนำนี้ยังใช้ได้กับพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พระองค์เจ้าธานีดูเหมือนจะมีอาการโล่งใจอย่างมากและกล่าวว่า เขาได้หวังไว้ว่าข้าพเจ้าจะพูดเช่นนี้ เขาถามว่า เขาสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ข้าพเจ้าพูดนี้ให้กับพระมหากษัตริย์สยามองค์ ปัจจุบันได้หรือไม่ ข้าพเจ้ากล่าวว่าได้

3. เป็นโอกาสดีที่พระองค์เจ้าธานีนิวัติถามข้าพเจ้าต่อไปว่า ข้าพเจ้ามีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อพระมหากษัตริย์สยามองค์ปัจจุบันอะไรอีก หรือไม่ นี่เป็นการเปิดช่องให้ข้าพเจ้าได้พูดตามที่ต้องการไว้ ข้าพเจ้าจึงพูดว่า ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า เพื่อเป็นการดีสำหรับอนาคตของสถาบันกษัตริย์สยาม เรื่องเกี่ยวกับการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ในพระบรมโกษฐ์ ควรที่จะได้รับการทำให้กระจ่างต่อสาธารณะอย่างเป็นที่น่าพอใจในอนาคตอันใกล้ นี้ ซึ่งประเด็นนี้พระองค์เจ้าธานีเห็นด้วย ข้าพเจ้าบอกพระองค์เจ้าธานีว่า ข้าพเจ้าได้ติดตามรายละเอียดเรื่องการสวรรคตของพระมหากษัตริย์สยามในพระบรม โกษฐ์อย่างเต็มความสามารถของข้าพเจ้าโดยอาศัยความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวสยาม จำนวนหนึ่ง และข้าพเจ้าได้มาสู่ข้อสรุปว่า ไม่สามารถเป็นไปได้ที่การสวรรคตจะเป็นเรื่องของการปลงพระชนม์พระองค์เอง [suicide] พระองค์เจ้าธานีกล่าวว่า นี่เป็นความเห็นของเขาเช่นกัน

4. ข้าพเจ้ากล่าวต่อไปว่า ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเช่นกันว่า จะเป็นเรื่องการลอบปลงพระชนม์ [murder] ได้อย่างไร เพราะใครเล่าจะเป็นผู้ลักลอบปลงพระชนม์ [assassin] และจะมีแรงจูงใจของการลอบปลงพระชนม์ อะไรได้? เมื่อข้าพเจ้าพูดเช่นนี้ พระองค์เจ้าธานีเพียงแต่พยักหน้า
5. ข้าพเจ้าจึงกล่าวต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น ก็เหลือความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียว นั่นคืออุบัติเหตุเกิดขึ้น เป็นที่รู้กันว่าพระมหากษัตริย์ในพระบรมโกษฐ์และพระอนุชา, พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน, ชอบเล่นปืนมากเป็นพิเศษและชอบยิงปืนสั้นของทั้งสองพระองค์เล่น ข้าพเจ้าเสนอว่าอุบัติเหตุอาจจะเกิดขึ้นง่ายๆโดยที่พระอนุชาด้วยความบังเอิญ และความโชคร้ายอย่างยิ่งปลงพระชนม์พระเชษฐา ข้าพเจ้าเสนอว่าถ้าเหตุการณ์เป็นแบบนั้นก็อธิบายว่าทำไมการสอบสวนกรณีสวรรคต จึงลงเอยแบบไม่น่าพอใจเช่นที่เป็นมา

6. ข้าพเจ้าเสนอความเห็นว่า ถ้านี่คือความจริงที่เกิดขึ้น อนาคตของสถาบันกษัตริย์สยามก็ตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง เพราะสักวันหนึ่งเมื่อไรก็ได้ ศัตรูของสถาบันกษัตริย์สยาม สามารถจะเปิดเผยว่าพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือผู้ปลงพระชนม์พระมหา กษัตริย์องค์ก่อน และคงจะอ้างแน่ๆว่าการกระทำของพระองค์เป็นการจงใจ ไม่ใช่อุบัติเหตุ ถ้าไม่เช่นนั้นทำไมเรื่องจึงถูกปิดเป็นเวลานาน ข้าพเจ้าถามพระองค์เจ้าธานีว่า ในภาวะที่ทรงมีความเสี่ยงจะถูกเปิดเผยกรณีสวรรคตเช่นนี้ พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ยังจะทรงคิดเสด็จเยือนสหราชอาณาจักรหรือประเทศใดก็ตามอีกหรือ ไม่ต้องพูดถึงการเดินทางกลับสยาม ข้าพเจ้ากล่าวว่า ถ้าทฤษฎีนี้เป็นความจริง ข้าพเจ้าก็อยากจะแนะนำอย่างยิ่งว่าพระมหากษัตริย์สยามควรสารภาพอย่างเต็มที่ และตรงไปตรงมา โดยที่พระองค์สามารถให้เหตุผลได้ว่า ....

[ยังมีต่อ]

No comments:

Post a Comment