Sunday, December 7, 2014

ปฏิรูปฉบับเผด็จการ แอนน์ แฟรงค์ : ตอน 8


สปช.โละทุนนิยม ผุดไอเดีย ‘สังคมนิยมเสรี’

“โละทุนนิยมเป็นสังคมนิยมเสรี สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เกิดจากช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยคนจนมากขึ้น ต้องใช้นโยบายการคลังและภาษี ปฏิรูประบบภาษีอากรใหม่ ปรับปรุงให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีรถยนต์แบบก้าวหน้า สร้างชุมชนเข้มแข็ง ลดอำนาจส่วนบน ขยายอำนาจ ฐานการเมืองส่วนล่าง โดยต้องร่วมมือกันระหว่างภาค รัฐและภาคเอกชน เพิ่มเพดานภาษี ปิดช่องโหว่การเก็บภาษี เปลี่ยนจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมเสรี จัดรูปองค์กรให้มีอำนาจต่อรอง และเพิ่มนวัตกรรมด้าน เทคโนโลยีมากขึ้น ให้ความรู้และรณรงค์การไม่ยอมรับคนโกง แก้ไขระเบียบราชการที่สลับซับซ้อน”

เมื่อข่าวนี้โปรยหัวปลิวว่อนสังคมไทย เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ว่ามันคือสังคมอะไร มันจะเกิดขึ้นภายใต้มือทหารได้อย่างไร แล้วโครงสร้าง “สังคมนิยมเสรี” มีการเก็บภาษีแบบไหน สถาบันกษัตริย์จะอยู่ตรงไหนของสังคม?
ก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ เพราะคงไม่กล้าตั้งคำถามโดยตรงได้ ในขณะที่พูดถึงสังคมนิยมเสรี ก็ยังไม่มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทางตรงต่อการร่างรัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจช่วงนี้แย่มากๆ ของกินของใช้ราคาแพงขึ้น การค้าขายทรงตัว แต่ตลาดหุ้นดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ อัตราการตกงานเพิ่มขึ้น การตามจับคนด้วยข้อหามาตรา 112 มีเกิดขึ้นเป็นระยะ แนวโน้มสิทธิเสรีภาพของผู้คนหายไปเรื่อยๆ ไม่มีทางกลับคืนมา รัฐบาลประกาศเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นทาง การเมืองได้ เตือนสื่ออย่าล้ำเส้น ชี้เสรีภาพต้องมีขอบเขต ตีกรอบห้ามวิจารณ์ รบ.-คสช. แจงต้องใช้ กม.พิเศษ กลัวคุมไม่อยู่ เปรียบดั่ง 'ผู้จัดการแข่งขัน' ไม่ได้อยู่ในเกมความขัดแย้งชวนทะเลาะ ขอทุกคนร่วมมือ วอน นร.-นศ.เบาๆ ลงบ้าง...

ปากว่าตาขยิบ ไม่ให้เสรีภาพอย่างแท้จริง งานช้างไม่งอกจากปากหมาฉันใด เสรีภาพก็ไม่ออกมาจากเผด็จการทหารฉันนั้น ซึ่งเป็นความจริง กลุ่มสภาปฏิรูปแห่งชาติจะสร้างสรรค์กฎหมายให้ออกมามีเสรีภาพขนาดไหน ก็เป็นแค่ความฝัน เพราะเป้าหมายของเผด็จการก็คือเอากลุ่มคนพวกนี้ไปนั่งสำเร็จความใคร่ร่วมกันให้รู้สึกว่ามีความสุข โดยไม่สนใจความจริงว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่สุดแล้วกฎหมายปฏิรูปต่างๆก็ต้องมาผ่านการคัดกรองจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
นั่นแสดงว่าการร่างกฎหมายต่างๆ ก็แค่ทำให้ประชาชนที่คิดว่า คสช. ให้พื้นที่ในการร่างกฎหมายได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมบ้างแล้ว แต่กับคนในสังคมอีกกลุ่มที่ คสช.ไม่เคยเห็นหัว ก็ยังเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มที่ไม่มีเงาหัวต่อไป

ช่วงนี้ก็กลับมาเป็นช่วงที่นักศึกษาเริ่มออกมาต้านรัฐประหารอีกระลอกสอง แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงแค่เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ทางฝ่ายทหารเองก็เชิญตัวไปปรับทัศนคติและให้ทำข้อตกลงว่าจะไม่ทำอีก แต่ปรากฏการณ์ที่สำคัญ มันปรากฏในคนที่เห็นว่าการต้านรัฐประหารของนักศึกษาถูกมองเป็นสองแบบ
แบบแรก เป็นการจ้างจากฝ่ายของทักษิณ (เป็นการคิดแบบเก่าๆ) แบบที่สองคือเป็นการทำงานของฝ่าย กปปส.(เริ่มคิดใหม่) แต่ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้จะเริ่มจากฝ่ายไหน ก็ชี้ให้เห็นว่าไม่มีใครยอมอยู่ภายใต้ท๊อปบู๊ตได้อีกต่อไป ช่องทางไหนที่สามารถสดงออกได้ก็ลงมือทำทันที

การปฏิรูปกฎหมายยังไม่คืบหน้าและมีความชัดเจน แต่การปัดฝุ่นกฎหมายเก่าเข้าที่ประชุม สนช.อย่างต่อเนื่องทั้งกฎหมายเกี่ยวกับ พรบ.ผู้ชุมนุม นิรโทษกรรม มันสะท้อนว่ากลไกการออกกฎหมายในระหว่างรัฐประหารก็ทำงานรูปแบบเดิม เหมือนการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา คือเร่งออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อคนไม่กี่กลุ่มให้ได้มากที่สุด โดยปราศจากการขัดขวางจากประชาชน เพราะถูกปิดปากด้วยกฎอัยการศึก คุก ปืน

ในขณะเดียวกันรัฐบาลทหารยังมี สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมาจากตัวแทนของนิติบุคคลในองค์กรต่างๆ เป็นไม้กันหมาว่านี่แหละ ตัวแทนทางอ้อมของภาคประชาชน ในการที่จะอธิบายที่มาของกฎหมาย ต่างอ้างความเป็นธรรม แต่ก็สามารถอธิบายได้แต่เฉพาะประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นไม่ได้ทั้งหมดทั้งประเทศ เพราะกลไกแบบนี้มันไร้ความน่าเชื่อถือ

ทางเลือกที่ดีของประชาชนคือไม่ยอมรับกฎหมายที่ตัวเองไม่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เชื่อมั่นเสมอว่าเผด็จการไม่สามารถสร้างกฎหมายที่มีเสรีภาพได้ ปาหี่แหกตาประชาชนทำได้กับคนที่โดนยาชาเข้าสมองเท่านั้น ประชาธิปไตยจะได้มาประชาชนต้องสร้างเอง กฎหมายที่เป็นธรรมต้องมาจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

ประชาชนจงเจริญ

- แอนน์ แฟรงค์
 

No comments:

Post a Comment