Sunday, December 7, 2014

" เมื่อคนรู้จักไปรับใช้ทหาร " แอนน์ แฟรงค์ : ตอน 4


เมื่อมีประกาศกฎอัยการศึก สังคมที่แตกอยู่แล้วก็แตกออกซ้ำเข้าไปอีก มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีคนอธิบายการประกาศกฎอัยการศึกว่าทำเพื่อกลุ่มของตัวเอง แกนนำเสื้อแดงบอกว่าให้มวลชนอยู่เฉยๆ และให้ความร่วมมือในการเข้าไปประชุมปรึกษาหารือกับทหาร เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนเป็นการทำรัฐประหารของทหาร ก็เห็นความชัดเจนของประชาชน มีกลุ่มสนับสนุนรัฐประหาร มีฝ่ายต้านรัฐประหารออกมาทันที ซึ่งก็ชัดเจนอย่างหนึ่งคือกลุ่มที่ต้านรัฐประหารก็คือกลุ่มคนเสื้อแดง ส่วนฝ่ายคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็ดีใจเพราะว่าในการชุมนุมก็เรียกร้องให้ทหารได้ออกมาทำให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ ส่วนคนที่เพิกเฉยและรอดูสถานการณ์ก็มีไม่ใช่น้อย

เมื่อคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมี 48 มาตรา ให้แต่งตั้งตำแหน่งสภานิติบบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 220 คน สภาปฏิรูปแห่งชาติ 2557 (สปช.) อีกจำนวน 250 คน เป็นโอกาสของคนต่างๆ ที่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยผ่านการคัดเลือกจากคณะรัฐประหาร ทำให้เกิดการตื่นตัวของกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐประหารที่อยากเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งก็เป็นคนกลุ่มที่สนับสนุนรัฐประหาร

อีกพวกก็คือ พวกถือข้างฝ่ายอำนาจรัฐ พวกนี้ไม่สนใจว่าอำนาจรัฐมาจากอะไร ใครมีอำนาจก็เข้าร่วมด้วยท้ังนั้น เพราทำให้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ได้มีส่วนร่วมการเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญ บางกลุ่มคนคิดว่านี่คือช่องทางที่จะทำให้สามารถทำกฎหมายที่เป็นธรรมได้

เมื่อเปิดรับสมัครสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เริ่มเห็นคนรู้จัก เพื่อนในแวดวงการทำงานเดียวกัน เข้าไปเสนอตัว ผ่านกลไกต่างๆไม่ว่าจะออกข่าว เสนอความคิดผ่านสื่อของแนวทางปฏิรูปประเทศไทย เพื่อทำให้เห็นว่าอยากเข้าไปมีส่วนร่วม การไปเสนอตัวเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นเท่ากับการยอมรับอำนาจที่มาจากทหารอำนาจเผด็จการ ไม่สนใจกลไกลการการเลือกตั้ง บางคนได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน ด้านประชาธิปไตยจากต่างประเทศด้วยซ้ำ แต่ทางหนึ่งที่ใช้เป็นข้ออ้างคือการมีส่วนร่วมดีกว่านิ่งเฉย

แต่การคัดเลือก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ทำให้หลายคนผิดหวัง เพราะไม่มีชื่อของตัวเองติดโผเลย คนที่ได้คัดเลือกส่วนใหญ่เป็นนายทหารและข้าราชการระดับสูงซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการวางแผนไว้แล้วว่าจะเอาใครมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนอื่นๆ เป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น แต่ก็ยังไม่หมดโอกาสเพราะยังมีอีกสภาหนึ่ง คือสภาปฏิรูปแห่งชาติ 2557 (สปช.) จำนวน 250 คน มีเงื่อนไขคือการส่งตัวแทนจากองค์กรนิติบุคคล ให้องค์กรละ 2 คน ในครั้งนี้ได้เห็นคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร นักสหภาพแรงงานเดินทางไปสมัครกันเป็นจำนวนมาก โดยผ่านองค์กรนิติบุคคลต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น วัด สำนักสงฆ์ อาคารชุด สหกรณ์ออมทรัพย์ สหภาพแรงงาน สภาแรงงาน มูลนิธิ พรรคการเมืองฯลฯ ได้ส่งรายชื่อตัวแทน เป็นผู้สมัครรับคัดเลือกเป็น สภาปฏิรูปแห่งชาติ 2557 (สปช.)

แปลกใจหรือเปล่า??? ไม่แปลกใจเลยที่เห็นกลุ่มคนที่รู้จักออกมาสนับสนุนการรัฐประหาร โดยการให้ความร่วมมือในประเด็นต่างๆอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่ยังมีเพื่อนที่เคยทำงานร่วมกันมาในประเด็นทางสังคม ติดคุก อยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว (ศาลทหาร) หนีออกนอกประเทศ ไม่สามรถแสดงออกทางการเมืองได้ ชุมนุมไม่ได้ จัดเสวนาสัมมนาหัวข้อการเมืองไม่ได้ ทั่วประเทศถูกควบคุมโดยทหาร สื่อถูกปิดกัน แต่คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเดินเข้าไปจับมือกับเผด็จการ เพื่อนที่เข้าไปรับใช้ทหารก็พูดว่า มันเป็นโอกาสที่จะได้เสนอปัญหาของสังคมให้กับคนที่มีอำนาจในการจัดการได้อย่างเต็มที่ เป็นหนทางโอกาสที่จะปฏิรูปสังคม (ซึ่งก็เห็นพูดซ้ำๆมาอย่างยาวนาน)

แต่เพื่อนๆ เหล่านั้นคงลืมไปอีกว่า คณะรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลยไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน แถมยังทิ้งผลพวงของรัฐประหารที่เป็นรูปแบบกฎหมายไว้อีกมากมายจากการออกกฎหมายในระหว่างรัฐประหาร ปิดกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของการต้านรัฐประหาร ออกโพลมาหลอกลวงประชาชนว่าคนจำนวนมากพึงพอใจคณะรัฐประหาร ในทุกวันศุกร์จะมีตัวแทนรัฐประหารหรือนายกรัฐมนตรีที่มาจากการยึดอำนาจ ออกมาพูดถึงแนวทางการบริหารประเทศ พูดเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในระยะยาว ระยะสั้น ปัญหาเฉพาะหน้า และก็โต้ประเด็นกับบุคคลในระดับปัจเจก ไม่มีการพูดถึงแนวที่จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เช่นการเลือกตั้ง หรือประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก วิธีการพูดแบบ สั่งสอนแบบขู่ตะคอก พูดไม่คิด นึกอะไรได้ก็พูดพล่ามทุกวันศุกร์ครั้งละชั่วโมงกว่าๆ ในบางครั้งพูดเหยียดหยาดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นด้วย เมื่อเห็นภาพทั้งหมดแล้ว ทำให้เข้าใจว่า เพื่อนๆคนรู้จักที่อาสาเข้าไปรับใช้ทหาร ทั้งทางตรง ทางอ้อม เป็นแนวร่วม ในประเด็นต่างๆนั้น ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่เกิดจากจิตใจดีที่ต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง แต่เกิดจากความที่อยากได้ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า เกียรติยศ ชื่อเสียง
ในส่วนตัวของตัวเอง เพราะถ้าคนเหล่านี้อยากเห็นสังคมดีขึ้น มีรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม ต้องให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนรวมในการตัดสินใจ การที่จะพูดเรื่องประชาธิปไตย การช่วยเหลือคนด้อยโอกาส เป็นเพียงรูปแบบที่จะทำให้คนเห็นว่าเขาทำอะไร แต่เนื้อแท้ของคนเหล่านั้นก็คือการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องในกลุ่มไม่กี่คนเท่านั้น ถึงแม้นเพื่อนๆที่รู้จักกันได้แสดงธาตุแท้ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนขนาดนี้ สิ่งที่จะทำร่วมกันได้ในอนาคตคือการจดจำและทำเป็นบันทึกเอาไว้ เพราะคนเหล่านี้เป็นนักฉวยโอกาส เมื่อฝ่ายไหนชนะคนพวกนี้จะอยู่กับฝ่ายนั้นและยังพูดเรื่องประชาธิปไตยต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น.. สังคมต้องไม่ปล่อยให้พวกฉวยโอกาสได้กลับมาพูดเรื่องประชาธิปไตย ปฏิรูปการเมืองอีกต่อไป..

- แอนน์ แฟรงก์
 

No comments:

Post a Comment