Sunday, December 7, 2014

เมื่อความฝันของคนไทยกำลังทำร้ายคนไทย บุเรงนอง : ตอน 7


ในการแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่น หัวใจสำคัญนั้นมิใช่การทำอย่างไรให้มีคนดีเข้ามาบริหารประเทศ แต่คือการทำอย่างไรให้ผู้เข้ามาบริหารประเทศจะต้องประพฤติตัวเป็นคนดีไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนดีหรือไม่ การจะออกแบบระบบให้ทุกคนต้องประพฤติตัวเป็นคนดีได้นั้น ก็ต้องอาศัยการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้รู้ว่าคนๆ นั้นได้ประพฤติตัวตามแบบอย่างที่คนดีควรประพฤติหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องระพฤติปฏิบัติให้เป็นคนดี เพราะหากไม่ทำก็อาจจะถูกร้องเรียน หรือฟ้องร้อง ซึ่งอาจจะถูกศาลตัดสินให้จำคุกได้ในที่สุด

นี่คือ “ระบบที่นานาอารยประเทศล้วนใฝ่ฝัน”

เมื่อมองย้อนกลับมายังประเทศไทย ประเทศที่มีความฝันตรงข้ามกับประเทศที่เจริญแล้ว เพราะประเทศไทย ไม่ได้อยากได้ระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพเพื่อตรวจสอบว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ของประชาชนได้เข้ากระเป๋าใครมั้ย แต่อยากได้คนที่ดีโดยเนื้อแท้ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบแต่ประการใด นี่คือความฝันของคนไทยจำนวนมาก เป็นความฝันแบบ “ไทยๆ”

เมื่อเกิดการรัฐประหารและมีการ จัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้น ประกอบกับแนวคิดที่ว่า ท่านประยุทธ์เป็นคนดี และความฝันแบบไทยๆ ที่ไม่ให้ตรวจสอบคนดี การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลจึงไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากภาคประชาชนแต่อย่างใด

การขาดการตรวจสอบจากภาคประชาชนนั้น ส่งผลให้การทำหน้าที่ขององค์กร ของรัฐ โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ไร้ประสิทธิภาพไปด้วย เพราะ ขาดแรงกดดันจากประชาชน จริงอยู่ว่า แม้องค์กรของรัฐเหล่านี้ ตามกฎหมายย่อมมีหน้าที่ปราบปรามการทุจริต แต่ต้องไม่ลืมว่าการกดดันของประชาชน ก็คือการตรวจสอบการทำหน้าที่ขององค์กรที่ตรวจสอบรัฐบาลอีกทีหนึ่ง ซึ่งหากองค์กรอย่าง ป.ป.ช. ทำหน้าที่ไม่ดีหรือไร้ประสิทธิภาพ ก็ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงได้

เราต้องไม่ลืมว่าในสภาวการณ์ที่ไม่มีประชาธิปไตย อำนาจเผด็จการนั้นเข้มแข็ง โดยทั่วไปการตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลทหารโดยกลไกปกตินั้น ก็แทบจะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะหากทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างแข็งขัน ก็อาจจะถูกนำตัวไปปรับทัศนคติ หรือสั่งยุบได้โดยง่าย ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า อำนาจเผด็จการฟาสซิสต์เหล่านี้ก็เกรงกลัวประชาชน เพราะหากประชาชนลุกฮือนั่นอาจจะหมายถึงหายนะของเผด็จการทหารเลยทีเดียว ความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่จะหันมาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น จึงมีความสำคัญอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นได้ว่า องค์กรตรวจสอบเหล่านี้ไร้น้ำยาอย่างไร ก็คงพิจารณาได้จากทั้งการจัดซื้อไมโครโฟน ครม. หรือ การที่ตระกูลจันทร์โอชาที่ไม่เคยมีประวัติว่าเป็นเศรษฐีมาก่อน ก็สามารถมีทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากได้ คำถามคือ องค์กรเหล่านี้ได้ทำอะไรให้เป็นที่กระจ่างบ้างหรือไม่ว่าไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้น

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ วิธีการเดียวที่ประชาชนจะรู้ได้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลใช้ไปนั้นเป็นไปเพื่อประชาชนหรือไม่นั้น ประชาชนต้องกดดันองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบให้มากกว่านี้ ถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดวิธีการเดียวที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้มากที่สุด เราก็ต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เพราะมันคือระบอบเดียวที่เอื้อต่อประชาชนและเอื้อต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากที่สุดแล้ว

- บุเรงนอง
 

No comments:

Post a Comment