Sunday, December 7, 2014

" ประสบการณ์จากผู้ลี้ภัย " เสียงสามัญ : ตอน 3


ในคราวนี้เนื่องจากผู้เขียนได้มีโอกาสคุยทางออนไลน์กับ ส. ชายหนุ่มหน้าซื่อเปี่ยมด้วยความใฝ่รู้ ที่ต้องออกนอกประเทศไป เนื่องด้วยเขากังวลเรื่องคดีที่เขาถูกออกหมายจับหลังรัฐประหาร คดีจากความผิดที่ไม่ถูกยอมรับในประเทศนี้ว่าเป็นคดีทางการเมือง คดีความคิด และผู้เขียนคิดว่าหากเราเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยสิ่งเหล่านี้ก็คงไม่ถือเป็นความผิด
ใช่แล้วครับ ผู้เขียนหมายถึงความผิดตาม ม. 112 จึงขอเล่าประสบการณ์ของ ส. จากที่ได้คุย ทั้งเรื่องการอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในไทยด้วยความกังวล และชีวิตหลังออกจากประเทศไป โดยขอไม่กล่าวถึงชื่อและประเทศที่ ส. ไปอยู่

ทำไมถึงตัดสินใจหลบออกจากประเทศ?
ส. : เพราะผมรู้สึกไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศ จากการโดนหมายจับ และมีเพื่อนในทีมโดนจับไปก่อนหน้านั้นแล้ว

ก่อนที่จะหลบออกไปนั้น อยู่อย่างไรในไทย?
ส. : ในไทยผมอาศัยบ้านเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง ตามคำแนะนำของเพื่อนผม โดยอาศัยเงินจากทางบ้านส่งมาบ้าง เงินจากเพื่อนบ้าง

หลบออกไปอยู่ต่างประเทศแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ตอนนี้?
ส. : ชีวิตความเป็นอยู่ตอนนี้ สบายดีครับ ค่าใช้จ่ายพอมีครับ ไม่ถึงกับลำบาก ตอนนี้ช่วยกิจกรรมสถานีวิทยุออนไลน์ กับเพื่อนๆ

สิ่งที่กังวลที่สุดตอนนี้คืออะไร?
ส. : สิ่งที่กังวลตอนนี้ น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในระยะยาวครับว่าจะอยู่ได้ไหม ไปพร้อมๆ กับการปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อน

มีแผนจะกลับมาประเทศไทยหรือไม่?
ส. : ยังไม่มีแผนที่จะกลับมาครับ อาจจะตียาวไปอีก 4-5 ปี รอสถานการณ์สงบ

ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศนั้น อยากให้เล่าประสบการณ์การใช้ชีวิต มีเหตุการณ์ไหนที่ทำให้กลัว?

ส. : เหตุการณ์ที่ทำให้กลัวน่าจะเป็นวันสุดท้ายก่อนออกจากที่พักในจังหวัดภาคใต้แห่งหนึ่งครับ เพราะหลังจากเพื่อนถูกจับแล้ว รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย จนแทบไม่มีทางเลือก จนผมเกือบจะบวชเพื่อหนีภัย ไฟท์บังคับแล้วตอนนั้น แต่โชคดี ที่น้องเขา(คนรู้จัก) หาทางออกโดยการเดินทางออกจากพื้นที่ขึ้นกรุงเทพ

รัฐประหารส่งผลยังไงกับการใช้ชีวิตและคดีความ?

ส. : งานที่บ้านช่วงนี้ก็ต้องทิ้งไปเลยตั้งแต่มีคดี โดยให้ที่บ้านหาทางรอดเอาเอง ถ้ามีงานใหญ่ๆ ที่ต้องใช้คนเยอะมาช่วย เพราะผมอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้ สู้ผมไปดีกว่า

ตอนนี้มีห่วงอะไรในประเทศหรือไม่?
คงห่วงร้านครับ เพราะเขาก็อยู่กันแบบเดิม ไม่ได้ดิ้นรนอะไรหลังจากผมออกจากบ้านมาแล้ว ผมเลยยกเงินที่ทางบ้านจะมาช่วยผม ให้เอาไปเลี้ยงหลาน(ลูกของน้องสาว) ที่จะคลอดแทน

อยากให้เล่าเหตุการณ์ที่ประทับใจและเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยมาสักหนึ่งเหตุการณ์ ทั้งก่อนออกประเทศและหลังจากออกประเทศไปแล้ว?

ส. : เหตุการณ์ที่ประทับใจ คงจะเป็นวิถีชีวิตในชุมชนที่ผมไปอาศัยอยู่ก่อนออกจากประเทศ ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม ที่ค่อนข้างจะสายกลางนิดนึง ถ้าเพื่อนผมไม่โดนจับ ผมคิดไปแล้วว่า คงเข้าอิสลาม แล้วอาศัยเรียนศาสนา ไปพร้อมๆ กับทำงานให้มัสยิด แลกข้าวพอได้อาศัยไปวันๆ ครับ เพราะคงเป็นตัวเลือกที่ผมคิดไว้ แต่ก็ไม่กล้าพูด เพราะทุกๆ คนจะยัดเยียดให้ผมบวชพระ อย่างเดียว
ส่วนเมื่อออกนอกประเทศไปแล้วนั้นเหตุการณ์ที่ประทับใจในการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ ที่ลี้ภัยด้วยกัน เพราะผมแทบไม่มีโอกาสใช้ชีวิตร่วม กับเพื่อนๆ แบบยาวๆ เลย นอกจากเจอกัน ทักกันสั้นๆ ตามเวทีเสวนา กับตามค่ายอาสา ส่วนดินแดนที่ผมอยู่ ก็ทั่วๆ ไป ผู้คนในท้องถิ่นเป็นมิตรเหมือนอยู่เมืองไทย
ขณะที่เหตุการณ์ที่น่ากลัว คงจะเป็นช่วงนี้ครับ เพราะต้องระวังตัวกันหลายๆ เรื่อง หลังสถานีวิทยุออนไลน์ที่ทำร่วมกับเพื่อนๆ ต้องหยุดชั่วคราว เนื่องจากจากทางการไทยพยายามใช้วิธีบีบทางการทูต

----------------
อย่างที่ผู้เขียนกล่าวในข้างต้นว่า คดีความผิดตามมาตรา 112 หรือคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้น หากเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยก็อาจไม่ถือเป็นความผิด หากจะเป็นความผิดหลายประเทศก็ไม่เอามาตรานี้มาใช้กัน หรืออาจเรียกผู้ต้องหาในคดีนี้ว่าเป็นนักโทษทางความคิด นักโทษทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่และมีวิธีปฏิบัติที่ต่างจากอาชญากร
และสิ่งสำคัญที่ทำลายหลักประกันเรื่องความยุติธรรมในคดีนี้ คือเรื่องการดำเนินคดีที่ผู้ต้องหาแทบทั้งหมดไม่ได้สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวหรือสิทธิการประกันตัวในระหว่างสู้คดี สวนทางกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาถึงผู้ต้องหาคดีนี้ ว่า “ผิดตรงไหน ก็ขึ้นก็จบแล้ว สู้ 3 ศาล บางทีศาลตัดสิน ตายแล้วยังตัดสินไม่ได้เลย” เพราะความเป็นจริงผู้ต้องหาในคดีนี้นอกจากระหว่างสู้คดีในชั้นศาลจะไม่ได้ประกันตัวแล้ว แม้แต่ในชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการ ก็ยังถูกฝากขังโดยไม่ได้ประกันตัวเช่นกัน
การไม่ได้รับสิทธิประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ส่งผลต่อความยุติธรรมอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง เป็นการลงโทษผู้ถูกกล่าวหาก่อนที่จะถูกตัดสิน คือ เพียงแค่คุณถูกกล่าวหาในคดีนี้ คุณก็ถูกลงโทษด้วยการติดคุกแล้ว โดยที่ยังไม่รู้ว่าผิดจริงหรือไม่ โดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาเลย
ประการที่สอง เป็นการลดความสามารถในการสู้คดีของผู้ถูกกล่าวหา ทำให้เกิดความยากลำบากในการเตรียมข้อมูลในการสู้คดี และประการที่สาม เป็นการบีบให้ผู้ต้องหาเลือกที่จะสารภาพตามข้อกล่าวหามากกว่าที่จะสู้คดีเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ เพราะหากระหว่างสู้คดียังถูกคุมขังอยู่ก็เท่ากับยิ่งสู้คดีนั่นหมายความว่ายังอยู่ในคุกและยิ่งถูกขังคุกนานขึ้น แต่หากเลือกสารภาพ แม้ไม่ได้ทำ อย่างน้อยก็ได้รับการลดโทษด้วย เป็นต้น
เหล่านี้จึงเป็นการทำลายหลักประกันว่าด้วยความยุติธรรม ผู้เขียนคิดว่า ต่อให้ผู้อ่านเป็นผู้ที่อยากให้กฎหมายมาตรานี้คงอยู่นิรันดร์ ก็คงไม่อาจยอมรับความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมแบบนี้เป็นแน่แท้

- เสียงสามัญ
 

No comments:

Post a Comment