Sunday, December 7, 2014

" เมื่ออินเตอร์เน็ตท้าทายเผด็จการ " บุปผาช่อผกา : ตอนพิเศษบันทึกการต่อสู้


20 พ.ค. 2557

คืนนี้มีสัญญาณไม่ดีนัก จากการติดตามข่าวสาร จากทั้งคนที่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวโดยตรงได้ และจากสื่อออนไลน์ต่างๆ บ่งชี้ว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ รัฐบาลเองก็แทบไม่ได้ตั้งตัว และส่งสัญญาณว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะบานปลายเกินกว่าที่รัฐบาลจะ
เข้าควบคุมได้จึงปล่อยให้เลยตามเลย

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนนี้ผมคิดว่ามีวิธีทางเดียวที่จะสื่อสารให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างตรงไปตรงมาผ่าน Facebook ซึ่งภายหลังพบว่าการวิเคราะห์ของผมเองไม่ผิดแม้แต่นิดเดียว คือการนำมาสู่การเกิดรัฐประหาร

22 พ.ค. 2557

เมื่อช่วงบ่ายทราบว่ามีการเจร จาระหว่าง แกนนำทั้งสองฝ่าย โดยมีทหารเป็นคนกลาง ปรากฎว่าราว 16.30 ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจการปกครอง มีประกาศหลายฉบับลงนามเขา สิ่งแรกที่เขาต้องเข้าควบคุมคือ สื่อ ทั้งทีวี วิทยุ และสื่อสิ่งพิพม์ แต่มีสื่อออนไลน์ที่เขาไม่สามารถปิดได้ และข่าวสารทั้งหลายจึงแพร่สะพัดผ่านสื่อออนไลน์ อย่างรวดเร็ว

ผมคิดว่าในเวลานี้ สิ่งเดียวที่จะต้องทำคือการรวม กลุ่มเพื่อพูดคุย และใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ Facebook ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่เราควรคิดให้หนักว่า ข้อเสียของมันคือข่าวลือ และข่าวลวง ดังนั้นทุกข่าวต้องกรอง ก่อนจะลงความเห็นใดๆ ในค่ำคืนนี้เป็นค่ำคืนที่หลายคนวิตกกังวล สิ่งเดียวที่จะทำให้คลายความกังวลลงไปได้คือ การถอยออกจากการรับรู้ข่าวสารใดๆ สักระยะหนึ่งเพื่อตั้งสติ เพราะการใช้สื่อสารในเวลาเช่นนี้ค่อนข้างมีความสำคัญ เนื่องจากสื่อต่างๆ ถูกระงับการออกอากาศรายการปกติ

26 พ.ค. 2557

ในช่วงนี้ผมพยายามทำหน้าที่ อาสาสมัครในการส่งภาพข่าวของการชุมนุมในที่พื้นที่ต่างๆให้กับทั้งนักข่าวทั้งไทย และต่างประเทศ เพราะในพื้นที่ กทม เริ่มมีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2557 จนต่อเนื่อง เป็นอีกประโยชน์หนึ่งที่ทำให้เปิดพื้นที่สื่อ ไปสู่สาธารณะ ไม่ว่าจะมีการชุมนุม วงเล็ก วงย่อยที่ไหน ผมก็พยายามรายงานทุกสถานการณ์ พร้อมกับอัพภาพเหตุการณ์สดๆ ในพื้นที่ขึ้นโลกออนไลน์ ทำให้ผมรับรู้ได้ว่าผู้คนกระหายข่าวสารในเวลานี้มีมากมายนัก เราไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่เราพบในสถานการณ์จริง เราเพียงแค่ลงภาพ และอธิบายว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน และมีอะไรน่าสนใจ เพียงเท่านี้ ผู้กระหายข้อมูลข่าวสารก็ช่วยกันกระจายข่าวไปเรื่อยๆ

เมื่อผู้คนเริ่มเห็นข่าวสาร มันทำให้พวกเขามั่นใจมากขึ้นว่า พวกเขาสามารถออกมาแสดงพลังร่วมกับประชาชนกลุ่มอื่นๆได้จากการนัดหมายผ่าน Facebook

แต่ผมก็มั่นใจว่า ทหารไม่สามารถที่จะปิดการเข้าถึง Facebook แม้มันจะเป็นตัวสร้างความลำบากใจให้ไม่น้อย

28 พ.ค. 2557

ในวันนี้ผมพยายาม ถามตัวเองว่าหากวันหนึ่งเขาปิด Facebook ได้สำเร็จเราจะมีวิธีเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารกันอย่างไร และได้สอบถามจากผู้รู้ว่า การจะปิด การเข้าถึง Facebook นั้นย่อมทำได้ยากเพราะคนไทยใช้ มากอันดับต้นๆ ของโลก ที่สำคัญหากปิดการเข้าถึงก็สามารถใช้ VPN ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรีดาวน์โหลด มาติดตั้งในอุปกรณ์ของผู้ใช้ จากนั้นก็สามารถเข้าใช้งานอินเตอร์ได้ตามปกติ ยกเว้น ทหารจะกล้ามากพอคือปิดระบบอินเตอร์เน็ตทั้งประเทศไปเลย แต่นั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากเพราะระบบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในภาคส่วนรัฐบาลก็จำต้องพึงพาอยู่

29 พ.ค. 2557

หลังจากที่ การก่อตัวของกลุ่มต่างๆ ผ่านพื้นที่การชุมนุมไม่นาน ทหารเริ่มตั้งตัวได้และมีการจับ ล่า และควบคุมตัวผู้ที่ออกมาชุมนุมไปเป็นจำนวนมาก จนหลายครั้งเผชิญหน้ากับผู้ชุนนุม ในระยะหลังๆ จึงไม่มีใครกล้าออกมาชุมนุมในพื้นที่จริงอีก แต่ก็พยายามใช้ สื่อออนไลน์ในการเคลื่อนไหวแทน

ในเวลานี้การทำสื่อเองเริ่มมีมากขึ้น เช่นการทำคลิปวีดีโอ อธิบายโต้ตอบการทำงาน หรือแถลงการณ์ของ คสช. อยู่เนืองๆ ผ่าน YouTube และมีการแชร์ผ่านสื่อต่างๆ

เห็นจะมีแต่พื้นที่ในมหาวิทยาลัยที่พอจะเป็นเกาะกำบังให้ นิสิต นักศึกษาได้ใช้เป็นพื้นที่แสดงออกอยู่บ้าง อย่างมีบางกลุ่มสามารถดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศให้มาติดตามทำข่าว ในหลายๆครั้ง สิ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจได้น่าจะมาจากการที่พวกเขาแทบจะเป็นกลุ่มเดียวที่ออกมาท้าทายอำนาจ คสช. หลังจากที่ คสช.เอาจริงเอาจังกับผู้ประท้วง การมีสื่อมาทำข่าวนั้นหมายถึงหน้าตาของ คสช. กำลังจะถูกกำหนดจากภาพข่าวของสื่อเหล่านี้

ยกตัวอย่าง การไปกิจกรรม ในหลายครั้ง ของกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวได้ เขาจะต้องมีการแจ้งสื่อมวลชน ซึ่งแน่นอนมันย่อมแลกมากับการที่ทหาร ต้องรับรู้ถึงการทำกิจกรรมนั้นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องทำคือ ผู้ที่ติดต่อกับ สื่อ ต้องไม่ใช่ผู้ดำเนินงานหรือตัวหลักในการทำงาน เพื่อป้องกัน ไม่ให้ฝ่ายข่าวของทหารทราบรายละเอียดอะไรไปมาก

เมื่อเริ่มกิจกรรม พวกเขาต้องสังเกต และมองหาสื่อมวลชนที่จะมาคอยทำข่าว ซึ่งข้อดีจุดนี้คือเมื่อมีสื่อ และเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับพวกเขา อย่างน้อยก็เบาใจได้ว่า ประชาชนย่อมจับตาดูพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ไปด้วย ในเวลานั้น แต่ข้อกังวลคือภาพลักษณ์ที่แสดงออกไป ต้องพยายามทำให้เป็นภาพที่ เจ้าหน้าที่ บังคับใช้กับพวกเขาอย่างเผด็จการ ซึ่งเรื่องนี้ ทหารเองจะทำงานลำบากเพราะเขาจำต้องรับคำสั่งจาก ผู้บัญชาการของพวกเขา ดังนั้นหากนายสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเขาย่อมไม่สนใจวิธีที่พวกเขาต้องแคร์ใครอยู่แล้ว ทำให้ในระยะแรกๆภาพทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงถูกตำหนิและมีการเรียกร้องจากนานาประเทศ อย่างรุนแรงตามมา

ซึ่งระยะหลังเขาเริ่มมีการปรับปรุงโดย ยกภาพของทหารออกไป และเปลี่ยนเป็นภาพของ ตำรวจที่เสมือนเป็นสถานการณ์ปกติ ในการเข้ามาดูแล ระงับ เหตุการณ์ต่างๆที่พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

30 ส.ค. 2557

ในช่วงที่หลายคนไม่สามารถทำอะไรได้ มากกว่าการนำเสนอข่าวสาร และเปิดโปงความเลวร้ายของระบอบทหารผ่านโลกออนไลน์ สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามคือการทำหน้าที่ของสื่อออนไลน์ ก็ย่อมเป็นจุดที่ให้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของกองทัพ สามารถตามติดการเคลื่อนไหว หรือหาข่าวไปในตัวด้วย ดังนั้นผมจึงใช้วิธีการปล่อยข่าว ซึ่งจะจริงบ้างเท็จบ้าง ตามจังหวะ และความเหมาะสม ในหลายครั้งหากเรานำเสนอเป็นเรื่องจริง ก็อาจจะเป็นประโยชน์กับเรา เช่น การบอกว่าวันนี้จะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งมีข้อดีที่คุณอาจจะดูเหมือนเป็นคนโง่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ ที่คุณดันบอกพฤติกรรมประจำวัน ให้ทุกคนรับรู้ แต่นั้นย่อมทำให้คุณอาศัยจังหวะตายใจของเจ้าหน้าที่นี้ในการ ไปพบปะผู้คน หรือ เพื่อนๆเพื่อโอกาสในการเคลื่อนไหวได้เช่นกัน ที่สำคัญคุณสามารถสอดแทรกข่าวลวงไปในตัวได้อีกด้วย

มีครั้งหนึ่งที่ผมถูกเจ้าหน้าที่ตามถึงบ้าน และที่ทำงาน เพื่อนบ้านหรือเพื่อนที่ทำงาน ก็มักจะถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ส่งมาให้ผมทาง Line หรือ Facebook และการที่มีภาพเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบมาถึงบ้านหรือที่ทำงานของเรานั้น หากภาพถูกเผยแพร่ออกไปนั้นหมายถึง สภาวะจิตใจของผู้รับรู้ข่าวสารจะรู้สึกว่า มันไม่มีความปลอดภัยใดๆกับชีวิตของพวกเขา และการนี้ทำให้ภาพของเจ้าหน้าที่ติดลบไปมากกว่าเดิมเสียอีก ผมจึงใช้วิธีนี้ ปรามเจ้าหน้าที่ได้เช่นกันว่าหากใช้วิธีการคุกคามแบบเดิมๆ คุณก็จะถูกเสียบประจานเช่นนี้ไปเรื่อยๆ และมันไม่ได้ทำให้พวกเขาดูน่าเกรงขาม แต่มันกำลังทำให้เขาดูเหมือนเป็นตัวปีศาจที่ไม่มีเหตุผล ชอบใช้แต่กำลัง

11 ก.ย. 2557

มีหลายครั้งที่เราต้องตระหนักให้ดีว่าการสื่อสารของเราเองภายในกลุ่ม ต้องมีความระมัดระวัง เราต้องใช้การสื่อสารที่คนทั่วไปไม่นิยม หรือไม่มีการใช้แพร่หลายนัก โดยเฉพาะทุกวันนี้ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเริ่มมีมากมาย ซึ่งวิธีการสื่อสารเช่นนี้สามารถทำได้ง่ายขึ้น และสะดวกกับทุกสถานการณ์

ยกตัวอย่างเช่นการใช้ เครื่องมือสื่อสารของตระกูลแอปเปิ้ล ซึ่งจะมีโปรแกรมหนึ่งที่จะเป็นตัวควบคุม และจัดการการทำงานของข้อมูลภายในเครื่องโทรศัพท์ และที่เจ๋งกว่านั้นคือสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้โดยผ่านคอมพิวเตอร์ macbook นั้นหมายความว่าหากเราต้องถูกเจ้าหน้าที่ทหารยึดโทรศัพท์ การเก็บข้อมูลในเครื่องนั้นย่อมมีความเสี่ยง แต่เราสามารถทำลายข้อมูลนั้นได้ผ่าน โปรแกรม iCould ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ

สรุปคือ ทั้งหมดที่ผมอธิบายและยกตัวอย่างนั้นล้วนจำเป็นในการใช้ขับเคลื่อนเพื่อการเรียกร้องประชาธิปไตย ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในสภาวการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ต้องคำนึงถึง สามปัจจัย

๑. ยุทธวิธี และแผนการ คือ ต้องรัดกุม และแยบยล ทำให้ทหารเป็นฝ่ายที่ไม่มีเหตุผล และภาพที่ออกไปต้องกระจายในโลกออนไลน์ให้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ถ้าหากเป็นประเด็นที่คนในโลกออนไลน์แชร์กันเป็นจำนวนมาก สื่อกระแสหลักก็จะนำไปเป็นข่าวให้เราได้

๒. การใช้สื่อเพื่อสร้างข้อมูลข่าวสาร คือ สื่อจะมีความน่าสนใจ อยู่ที่การเลือกใช้คำ และประเด็นต่อสังคมดังนั้นการที่เราให้มีทิศทางข่าวต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องออกจากแหล่งข่าวเดียวกัน และแหล่งข่าวนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่ร่วมรู้ถึงแผนการทุกอย่าง การประสานสื่อมวลชนควรเป็นการประสานโดยตรง ยกเว้นการเคลื่อนไหวในรูปแบบนิรนาม

๓. การใช้สื่อเพื่อการสื่อสารภายใน คือการต้องหาวิธีการสื่อสารกันอย่างเป็นระบบ มีการนัดหมายพูดคุยออนไลน์อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ ควรจะมีความจริงจัง และตรงเวลา ที่สำคัญช่องทางนั้นต้องทำลายข้อมูลทิ้งทุกครั้งหลังจากที่การสนทนากันจบสิ้น ต้องตระหนักเสมอว่าความลับไม่มีในโลกแต่ทำอย่างไรให้ความลับนั้น เป็นเรื่องที่ลับที่สุดเท่าที่จะลับได้

- บุปผาช่อเก่า
 

No comments:

Post a Comment