Wednesday, December 10, 2014

เชื่อหรือไม่! - "ร.7" (รูปปั้น) เกือบจะได้ไปนั่งอยู่ที่ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" แทนพานรัฐธรรมนูญ

Believe It or Not!

เชื่อหรือไม่! - "ร.7" (รูปปั้น) เกือบจะได้ไปนั่งอยู่ที่ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" แทนพานรัฐธรรมนูญ
...................
วันนี้ 10 ธันวาคม "วันรัฐธรรมนูญ" มีการทำพิธีกรรม/กิจกรรม กัน 2 อนุสาวรีย์

พิธีกรรมของฝ่ายรัฐ จัดที่อนุสาวรีย์ ร.7 อาคารรัฐสภา

กิจกรรมของฝ่ายต่อต้าน จัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า ครั้งหนึ่ง ในปี 2495 รัฐบาลคณะรัฐประหาร 2490 ที่มีจอมพล ป.เป็นนายกฯ เกือบจะทำให้อนุสารีย์ 2 อันนี้ กลายเป็นอนุสาวรีย์เดียว

แน่นอน ตอนนั้น ยังไม่มีอนุสาวรีย์ ร.7 แต่มีการดำริว่าจะสร้าง โดยรัฐบาลจอมพล ป.
ปริบทของไอเดียนี้คือ หลังจาก จอมพล แตกหักกับปรีดี ในช่วงสงคราม และมีอยู่ช่วงหนึ่งปรีดีได้ขึ้นมาเป็นใหญ่แทน ฝ่ายจอมพล ก็เริ่มหันเอียงเข้าพึ่งฝ่ายเจ้ามากขึ้นๆ โดยมาถึงจุดสุดยอดที่การร่วมมือกับฝ่ายเจ้าทำรัฐประหารโค่นปรีดี เมือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 (โดยอาศัยกรณีสวรรคตเป็นข้ออ้างสำคัญ) ซึงเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทย ตอนแรกหลังรัฐประหารก็ยอมให้พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นของฝ่ายเจ้าตั้งรัฐบาล แล้วมา "จี้" ออกภายหลัง (โดยทำการ "จี้" ในวันที่ 6 เมษายน 2491 - นับว่าพวกทหารมี "อารมณ์ขัน" ไม่น้อย) แล้วจอมพลก็ขึ้นเป็นรัฐบาลแทน

แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลจอมพล ยุคหลัง 2490-91 นี้ ก็พยายาม "ผูกมิตร" กับเจ้าอยู่พอสมควร เช่นมีการเชิญอัฐิ ร.7 กลับประเทศ, ถวายคืนวังศุโขทัยให้พระนางรำไพพรรณี เป็นต้น) แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายก็ไม่ราบรื่น โดยเฉพาะในปลายปี 2494 เมื่อในหลวงภูมิพลกำลังเสด็จกลับเมืองไทย ฝ่ายจอมพลและรัฐบาลคณะรัฐประหาร ก็ประกาศยึดอำนาจตัวเอง เพื่อล้มรัฐธรรมนูญ 2492 ที่ฝ่ายเจ้าเป็นผู้ร่างขึ้น และเลิกวุฒิสภา ที่ฝ่ายเจ้าคุม .. การยึดอำนาจครั้งนั้น เป็นการ"หักหน้า"ฝ่ายเจ้าอย่างรุนแรง (พระองค์เจ้าธานี ประธานที่ปรึกษาของในหลวงโกรธมาก ในหลวงเองก็คงไม่พอพระทัยไม่น้อย .. รัฐประหารเกิดขึ้น ขณะทีเรือที่ในหลวงโดยเสด็จมาเมืองไทย กำลังจะแล่นเข้าอ่าวไทยเพื่อจะมาเทียบท่าเรือคลองเตยอยู่แล้วในไม่กี่วัน) คณะรัฐประหารได้ขุดเอา รธน. 10 ธันวา 2475 มาประกาศใช้ใหม่ โดยเพิ่มมาตราที่เอาใจเจ้า จากรัฐธรรมนูญ 2492 เข้าไปด้วย (ทีสำคัญให้มีองคมนตรี จาก รธน.2492 - สมัย 2475 ไม่เคยมี) แต่กระนั้น กว่าจะออกรัฐธรรมนูญ "2475 ฉบับแก้ไข 2495" มาได้ ก็ต้องมีการเจรจากัน (ในหลวงทรงมี "พระราชวิจารณ์" ตัวร่างด้วย) แล้วจนถึงวันจะมีการประกาศใช้ ก็มีปัญหาที่ในหลวงทำท่าจะไม่ยอมเสด็จมาในพิธีประกาศใช้ (ในหลวงอยู่หัวหิน วันสุดท้ายก่อนวันประกาศยังไม่ยอมเสด็จมา เผ่าต้องไป "ตาม" ถึงหัวหิน)... มีการประกาศงดพิธี แล้วประกาศให้มีพิธีอีก ในเวลาห่างกันไม่กี่ชั่วโมง ทำความปวดหัวให้กับทูตานุทูตที่จะมาร่วมงานมาก

การคิดสร้างอนุสาวรีย์ ร.7 ของจอมพลในช่วงนั้น เกิดขึนในปริบทเช่นนี้เอง คือจอมพล คงต้องการพยายาม "เอาใจ"ฝ่ายเจ้า ด้วยการฟื้นฟูเกียรติภูมิ ร.7 ขึ้นมา (และก็พอดีสอดคล้องกับการเอา รธน. 10 ธันวา 2475 มาใช้ใหม่ด้วย) มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดสร้างอนุสาวรีย์ ร.7 ขึ้นมา มี พล.ต.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุทธยา รัฐมนตรีมหาดไทยเป็นประธาน ความตั้งใจเบื้องต้น คือจะสร้างอนุสาวรีย์ ร.7 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

แต่ปรากฏว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2495 (ก่อนวันประกาศใช้ รธน.2475 ฉบับแก้ไข 2495 เพียงวันเดียว) ตามรายงานการประชุมที่ส่งไปถึงอธิบดีกรมศิลปากร มติที่ประชุมครั้งนั้นได้เปลี่ยนที่ประดิษฐานพระบรมรูปจากบริเวณพระที่นั่ง อนันตสมาคม มาเป็นที่ อนุสสาวรีย์

ประชาธิปไตย “โดยเอาพานรัฐธรรมนูญออก แล้วเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และปีกทั้งสี่มุมให้รื้อออก เหลือไว้แต่ฐาน และให้หล่อ [พระบรมรูป] เป็นทองแดง... ติดตั้งตามเดิม ตอนบนให้มีไฟฉายประจำที่บนฐานทั้ง ๔ ฐาน… ให้พระบรมรูปอยู่กลางแจ้ง มีเศวตฉัตร์…” ซึ่งงบประมาณในการจัดสร้างประเมินไว้ไม่เกินหนึ่งล้านบาท (เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศธ. 0701.44/1 เรื่องกรรมการสร้างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)
นับว่าเป็น "โชคดี" (มั้ง?) ที่ไอเดียนี้ พอเข้าไปถึงระดับคณะรัฐมนตรี (หรือถึงจอมพลเอง) ถูกทำให้ตกไป
..............
ขอบคุณ "มิตรสหายท่านหนึ่ง" ที่ช่วยค้นและแนะนำข้อมูลจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่น่าสนใจนี้ให้

No comments:

Post a Comment