Sunday, December 7, 2014

" ศาลทหาร ความอยุติธรรมเผด็จการ "แอนน์แฟรงค์ : ตอน 5


อะไรวะ!! ศาลทหารก็ใช้กับทหารซิ มาใช้กับพลเรือนได้อย่างไร? คงทำได้แค่เสียงคิดในใจเท่านั้น คงจะออกมาประท้วงหรือไม่ยอมรับไม่ได้ ไม่มีสื่อกระแสหลักวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ศาลทหารคือศาลเดียวตัดสินแล้วจบเลย ไม่ชักช้า ทำงานเร็ว มีการแบ่งระดับชั้นยศไว้สองระดับในศาลจังหวัดทหารกับศาลมณฑลทหาร ส่วนศาลทหารกรุงเทพใช้ได้กับทุกชั้นยศ

เมื่อมีประกาศยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประกาศฉบับที่ 11/2557 ก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงการทำหน้าที่ของอำนาจศาลทั้งหลายต่อไป เมื่อเวลาผ่านมาสามวันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 มีประกาศเรื่องเขตอำนาจศาล, ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา, ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
“ความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร” นั่นแสดงให้เห็นว่าความยุติธรรมที่เผด็จการจะมอบให้นั้น เข้าสู่กรอบของทหารเต็มรูปแบบ เพราะมีประกาศฉบับอื่นๆ ตามออกมาเพื่อให้อำนาจศาลทหารรัดกุมมากขึ้น

การใช้ศาลทหารคือการรวบรวมอำนาจมาอยู่ในมือทหารแบบเบ็ดเสร็จ เมื่อเป็นเช่นนั้นคงไม่ต้องหาความยุติธรรม ที่เป็นไปตามกลไกของกฎหมาย ไม่อาจหาความยุติธรรมที่ผู้พิพากษา อัยการจะทำงานแบบตรงไปตรงมาได้อีกแล้ว เพราะทุกคดีที่ขึ้นสู่ศาลทหาร สามารถทำงานตามใบสั่งหรือถูกแทรกแซงจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อย่างเต็มที่

นี่อาจจะทำให้คนในสังคมได้เห็นบ้างว่า อย่างน้อยก็มีกลไกของกระบวนการยุติธรรมที่สามารถหาทนายความมาแก้ต่างได้ ขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ เหมือนกับศาลธรรมดาพลเรือนทั่วไป แต่ใครจะรู้บ้างว่ากลไกเหล่านี้คือเครื่องมือให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ดูดีขึ้น ไม่ป่าเถื่อนจับคนขังเข้าคุก หรือไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่เนื้อแท้ของมันไม่มีความยุติธรรม เพราะเป็นการตัดสินศาลเดียว ไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา การตัดสินศาลเดียวบีบให้คนมักจะยอมรับสารภาพเพื่อให้เหลือโทษกึ่งหนึ่ง ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนก็จะได้รอลงอาญา เพราะคิดว่าสู้ไปก็เสี่ยงที่จะติดคุก และการต่อสู้คดีอาจจะถูกมองว่ามีทัศนคติไม่ดีต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.)

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือกรณี นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ “ทอม ดันดี” อดีตนักร้องดัง ฐานฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศาลทหารได้พิพากษาจำคุก นายทอม ดันดี 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี ประกอบกับนายทอม ดันดี ให้การรับสารภาพ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา 2 ปี
แต่นายทอม ดันดี ถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปอท. จับกุมกรณีปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความตามผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้วถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหาร

ทางเลือกที่ไม่มีทางเลือกของคนที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหรือไม่มารายงานตัวก็รับสารภาพ เพราะทำให้เรื่องจบเร็วและไม่เสี่ยงกับการลงโทษไม่รอลงอาญา และบางคนก็มีคดีอื่นอยู่ด้วย ส่วนคดีตามมาตรา 112 หรือคดีอาวุธ ซึ่งถือว่าร้ายแรงกว่า ก็เห็นหลายคนตั้งทนายสู้คดี เพราะคนที่ถูกจับมาถูกควบคุมตัวตามประกาศกฎอัยการศึกมาก่อนทั้งนั้น การขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฝากขัง ต้องเอาผู้ต้องหาไปปล่อยตัวที่เรือนจำ ทั้งที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ซึ่งต่างกับศาลทั่วไปที่จะปล่อยตัวที่ศาลได้เลย

เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย ก็ใช้วิธีการเดิมคือเอาจำเลยไปเรือนจำแล้ว เอาใบปล่อยตัวไปปล่อยที่เรือนจำ ในทางหนึ่งก็คือให้คนได้ลิ้มรสของเรือนจำ ให้เห็นกลไกในเรือนจำว่าถ้ายังแข็งข้อกับทหารพวกคุณได้กลับมาอยู่ที่นี่แน่นอน เป็นการข่มขู่ทางอ้อม ทำให้คนที่ถูกกระทำรู้ว่าถ้ายังแข็งขืนจะโดนอะไร

ส่วนการไต่สวนสืบพยาน ยังให้สิทธิในการมีทนายความเพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้พิพากษาเป็นทหารและอยู่ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำให้เชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะพิพากษาอย่างยุติธรรมอย่างแท้จริง เพราะในบางคดีก็จะเห็นว่าอัยการทหารก็ไม่สมควรจะสั่งฟ้อง ก็มีการสั่งฟ้อง ตำรวจไม่ควรจะส่งฟ้องก็ส่งฟ้อง ทำให้เห็นว่ากลไกเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎอัยการศึกและต้องขึ้นศาลทหาร ไม่มีความยุติธรรมที่แท้จริง ตำรวจไม่มีอำนาจตัดสินใจเอง และไม่เป็นอิสระ ต้องทำงานเป็นองค์คณะซึ่งมีทหารนั่งอยู่ด้วย
อัยการทหาร ซึ่งเป็นผู้ใต้บัญชาโดยตรงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้ใต้บัญชาโดยตรงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) แล้วเราจะร้องหาความยุติธรรมภายใต้ล้อตีนตะขาบ ถูกกดหัวด้วยปลายกระบอกปืนได้อย่างไร กระบวนการยุติธรรมจอมปลอมที่ต้องขึ้นตรงกับทหาร สั่งขังก็ขัง สั่งปล่อยก็ปล่อย แต่เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่ขบวนการประชาชนยังไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรอย่างเข้มแข็ง ไหนเลยจะต่อสู้กับองค์กรทหารที่มีทั้งอาวุธ บุคลากร ทรัพย์สิน และที่สำคัญองค์กรศาลที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของทหารไปแล้ว ประชาชนยังมีความหวังถ้าเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง!!

- แอนน์ แฟรงค์

No comments:

Post a Comment