Somsak Jeamteerasakul
ผม คิดว่า ค่อนข้างแน่นอนว่า คดีที่ icc ไม่สามารถจะบรรลุผลได้ (ผมเห็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ไม่อยากพูดไปมาก เพราะเห็นว่า เพื่อนๆหลายคนให้ความสำคัญ .. แต่ไหนแต่ไร ผมมองว่า เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับองค์กรระหว่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ขึั้นกับการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือ ขึ้นกับประเทศมหาอำนาจว่าจะมีท่าทีอย่างไร ซึีงในกรณีไทย ไม่มีมหาอำนาจประเทศใด มีท่าทีให้ความสำคัญ)
ดังนั้น ก็เหลือเฉพาะในประเทศ . . .
กรณี "ระบบยุติธรรม" ของไทยนั้น ยกเว้นแต่จะเกิดการเปลี่ยนในระดับ "โครงสร้าง" อย่างชนิด "ถึงราก" (radical structural change) โอกาสที่ "ระบบยุติธรรม" ของไทย จะดำเนินการในทางที่ลงโทษกรณีเช่นนี้ เรียกได้ว่า ไม่มีเลย (ไม่งั้น แม้แต่ 17 พฤษภา ที่เกิดในยุคที่ "พัฒนา" ไปมากแล้ว คงไม่เป็นอย่างทีเห็น)
ในทางกลับกัน แกนนำเสื้อแดงเอง แม้ขณะนี้ มีแนวโน้มที่จะได้รับการผ่อนปรน ในแง่ประกันตัวออกมา แต่ก็มีคดีติดตัว คดีลักษณะนี้ - อันนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องน่ายินดีอะไรมาก - แทบจะไม่มีทางดำเนินถึงที่สุดได้ (จะต้องใช้พยานกี่ร้อยคน ในแต่ละฝ่าย? จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีกี่ปี ทั้ง 3 ศาล? ฯลฯ) ... โอกาสที่จะเกิดขึ้นมากคือ ในที่สุด จะมีการ "นิรโทษกรรม" ...
และการ "นิรโทษกรรม" ต่อ แกนนำเสื้อแดง จะไมใช่การ "นิรโทษกรรม" แก่เสื้อแดงเท่านั้น จะเป็นเหมือน กรณี 6 ตุลา (ที่ผมมีประสบการณ์โดยตรง) คือ จะ "นิรโทษกรรม" ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา
ซึ่งก็จะเหมือนกรณี 6 ตุลา ที่ภาพที่ออกมาทั่วไป คือการ นิรโทษกรรม ปล่อยผมและเพื่อนออกมา แต่ จริงๆ กฎหมายนิรโทษกรรมนั้น เป็นการนิรโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นทั้งหมด หมายความว่า บรรดาคนที่บุกเข้าไปฆ่าคน ข่มขืน เผา แขวนคอ คน ในเช้าวันนั้น ทุกคน ล้วนได้รับการ "นิรโทษกรรม" หมด ไม่ต้องพูดถึงบรรดาคนที่เป็นผู้อยู่ "เบื้องหลัง" เหตุการณ์ฆ่าหมู่ครั้งนั้น
อัน ที่จริง สถานการณ์ "ปรองดอง" ในขณะนี้ มีส่วนชวนให้คิดถึงสถานการณ์หลังกรณี 6 ตุลา ไม่น้อย หลังจากความตึงเครียดรุนแรง ในช่วงรัฐบาลธานินทร์ ทีนักศึกษาหนีเข้าป่า และคิดกันว่า จะต่อสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะในขั้นสุดท้าย แต่หลังจากมีนิรโทษกรรมผมกับเพื่อนในปลายปี 2521 มีคำสั่ง 66/23 ในต้นปี 2523 และมีปัญหาภายในขบวนปฏิวัติเอง .. นักศึกษาก็ทะยอยกันกลับออกมา และเสมือนได้รับ "นิรโทษกรรม" จากการคุ้มครองของ 66/23 หลังจากนั้นไม่นาน ขบวนปฏิวัติทั้งขบวนก็พังครืนลง
แน่นอน คนที่ตายในกรณี 6 ตุลา ก็ไม่่มีใครต้องรับผิดชอบมาจนทุกวันนี้
(กรณี 17 พฤษภา มีความแตกต่าง และไม่มีลักษณะ "ดราม่า" เท่านี้ แต่ผลที่ลงเอยก็เหมือนกัน และในเวลาอันรวดเร็วกว่าด้วย)
..............
"ภาพ" (scenario) ที่ผมบรรยายข้างต้นนี้ จะต่างออกไปไหม ถ้า - โดย "ปาฐิหาริย์" บางอย่าง - พรรคเพื่อไทย ได้จัดตั้งรัฐบาล?
ผมไม่คิดว่าต่าง
ขอให้ลองคิดดู ถ้าสมมุติพรรคเพื่อไทย ได้เป็นรัฐบาล ในด้านความช่วยเหลือ แกนนำ ที่ยังมีคดีติดตัว วิธีที่จะทำได้มากที่สุดคืออะไร?
"นิรโทษกรรม"
แต่ การนิรโทษกรรม เฉพาะแกนนำเสื้อแดง เป็นเรื่องที่แทบจะคิดไม่ได้ (unthinkable) คือ ถ้าจะนิรโทษกรรม ก็คงต้องนิรโทษกรรมไปพร้อมกันทีเดียวหมดทุกฝ่าย
หรือ ต่อให้ รัฐบาลเพื่อไทย ผลักดันให้ นิรโทษกรรม เฉพาะเสื้อแดงได้จริงๆ แล้วหาทางดำเนินคดีกับผู้มีอำนาจในเดือนเมษา-พฤษภา (อภิสิทธิ์, สุเทพ, อนุพงศ์ ฯลฯ) ตราบเท่าที่ "ระบบยุติธรรม" เป็นอย่างทีกล่าวถึงข้างต้น ก็เป็นไปไม่ได้อยู่นั่นเอง ที่จะสามารถดำเนินคดี กับใครก็ตาม ในกรณีผู้เสียชีวิต เดือนเมษา-พฤษภา ได้
............
แน่นอน มี "ปม" หรือ "กุญแจ" สำคัญ อยู่ประเด็นหนึ่ง
นั่นคือ การจะหลีกเลี่ยง "อนาคต" เช่นที่ว่าข้างบนนี้ได้ ก็จะต้องมีการ "เปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอย่างถึงราก" (radical structural change) ไม่เพียงแต่ "ระบบยุติธรรม" เท่านั้น (เพราะระบบยุติธรรม ไม่สามารถเปลี่ยนในระดับนี้ โดดๆ ได้)
ปัญหาคือ : นปช. - เพื่อไทย มี นโยบาย หรือ แนวทาง สำหรับการ "เปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอย่างถึงราก" เช่นนี้อยู่หรือไม่์?
No comments:
Post a Comment