Somsak Jeamteerasakul
กรณีตัวอย่างที่สถาบันกษัตริย์ สามารถปฏิเสธรัฐประหาร และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐประหารพ่ายแพ้ได้ : "กบฏยังเติร์ก" 2524 [มี pdf]
แต่ ความจริงของประเด็นนี้ ห่างไกลจากคำอธิบายง่ายๆเช่นนี้มาก ยกตัวอย่างเช่น ปรีดี พนมยงค์ เป็นคนหนึ่งที่เสนอว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพันธะที่จะต้องคัดค้าน ไม่รับรองการรัฐประหาร (ดูบทความของผมเรื่อง "สาร" (message) จากปรีดี พนมยงค์ ถึง ในหลวงภูมิพล เมื่อปี 2516: "พระราชปิตุลาทรงให้สัตยาธิษฐานไว้แล้วว่า พระราชปิตุลาและพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีองค์ต่อๆไปทุกพระองค์ จะต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และไม่ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการยึดอำนาจที่ขัดกับรัฐ ธรรมนูญ" http://www.prachatai.com/journal/2010/12/32177 )
ยิ่ง กว่านั้น หากศึกษารายละเอียดของการรัฐประหารสำคัญๆ เช่น รัฐประหารของสฤษดิ์ ในปี 2500 หรือรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ก็จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับการรัฐประหาารในประเทศไทย ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พวกรอยัลลิสต์กล่าวอ้าง
เมื่อ 30 ปีก่อน (จะครบรอบภายใน 2 เดือนนี้) ได้เกิดการทำรัฐประหาร โดยกลุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก" (แต่ให้ พล.อ.สันต์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้า - พล.อ.สันต์ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และกล่าวได้ว่ามี "ประโยชน์ได้-เสีย" จากการรัฐประหาร เพราะการต่ออายุเปรมในปีก่อนหน้านั้น ทำให้เขาหมดโอกาสเป็นผู้บัญชาการทหารบก) การรัฐประหารครั้งนั้นถูก พล.อ.เปรม ปราบปรามให้พ่ายแพ้ไป โดยมี พลโท อาทิตย์ กำลังเอก ที่เป็นแม่ทัพภาค 2 ขณะนั้น เป็นหัวหน้าในการดำเนินการปราบปราม
ไฟล์ pdf ข้างล่างนี้ ผมทำขึ้นจาก การถอดเทปคำบรรยาย ของ พลโท อาทิตย์ ซึ่งตีพิมพ์ใน สยามใหม่ ของชัชรินทร์ ไชยวัตน์ ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2524 การบรรยายแบบ "ปิดลับ" ของอาทิตย์ ครั้งนั้น มีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังจากเขานำการปราบ "กบฏยังเติร์ก" ได้สำเร็จ เป็นคำบรรยายที่น่าสนใจ และหาได้ยากมาก (ไม่มี นสพ.ฉบับใดในขณะนั้นตีพิมพ์หรือกล่าวถึง)
ประเด็นที่ผมอยาก ให้สนใจเป็นพิเศษ คือในส่วนที่ อาทิตย์ เล่าเกียวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งสนับสนุนข้อเสนอ (ของปรีดีเป็นต้น) ที่ว่า สถาบันกษัตริย์ มีบทบาทในเชิง ปฏิเสธ หรือ ทำให้การรัฐประหารล้มเหลวได้ (ในแง่มุมที่กว้างออกไป เรื่องนี้ยังเป็นการปฏิเสธ "มายา" [myth] ของพวกรอยัลลิสต์ที่ว่า "สถาบันกษัตริย์เป็นกลาง-อยู่เหนือการเมือง") โดยอาทิตย์ ได้เล่าว่า
- พระราชินี ทรงมีบทบาทสำคัญในการช่วย เปรม ให้หลุดพ้นจากการกักตัวของพวกยังเติร์ก โดยทรงโทรศัพท์ไปบอกพวกยังเติร์กว่า "ถ้าภายในครึ่งชั่วโมงนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ยังออกจากบ้านมาเข้าเฝ้าไม่ได้ ฉันจะออกไปรับด้วยตัวฉันเอง" (หน้า 14 ในนิตยสารดังกล่าว หรือหน้า 4 ของไฟล์ pdf และดูหน้าก่อนนั้นด้วย) การรอดพ้นการกักตัวของเปรม เป็นจังหวะก้าวทีสำคัญมากๆ ที่นำไปสู่การที่รัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลว
- ในหลวงและพระราชินี ทรงรับคำเชิญของอาทิตย์ ให้เสด็จออกจากกรุงเทพพร้อมเปรม ไปโคราช ที่ตั้งกองบัญชาการปราบกบฏ
- เดิมในหลวงจะทรงเสด็จต่อไปยังพระตำหนักภูพาน ทีสกลนคร (ซึ่งย่อมจะทำให้พระองค์อยู่ห่างออกจากทั้งฝ่ายเปรมและฝ่ายกบฏ ในลักษณะ "เป็นกลาง" ได้) แต่ทรงเปลี่ยนพระทัย ประทับอยู่ที่โคราชกับกองบัญชาการปราบกบฏ ("ท่านก็ว่า ท่านจะอยู่ทีนี่แหละ" หน้า 15 ในนิตยสาร หน้า 5 ของไฟล์ pdf)
สอง ประเด็นหลังนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างใหญ่หลวงที่ทำให้ฝ่ายกบฏสูญเสียความชอบธรรม และสนับสนุนฝ่าย พล.อ.เปรม และความสำเร็จของการปราบกบฏ
ดาวน์โหลด pdf คำบรรยายของ อาทิตย์ ได้ที่นี่
http://www.mediafire.com/?ruwg3eu0i3prino
No comments:
Post a Comment