Somsak Jeamteerasakul
การสัมภาษณ์ทำขึ้นในปี 2544 หรือราว 5 ปีก่อนการถึงแก่กรรมของคุณชูเชื้อ (22 สิงหาคม 2456 - 2 มกราคม 2549)
อ่านบทสัมภาษณ์ ตอนที่ 1 : ถูกจับ ได้ ที่นี่
อ่านบทสัมภาษณ์ ตอนที่ 2 : วันประหารชีวิต และความลำบากหลังจากนั้น ได้ ที่นี่
อิ๋ง : กลับบ้านมาร้องไห้
หมอด : แต่เราก็คิดว่า เลือดตระกูลสิงห์นี่แหละที่ เลือดทาแผ่นดิน รักษาแผ่นดินไว้ และที่พ่อต้องเป็นอะไรยังงี้ก็เพราะ รักษาแผ่นดิน ก็รักในหลวง เขาก็รักแผ่นดิน รักชาติ ไม่ต้องการให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ พ่อก็ยอมเสียชีวิต แม้แต่ชีวิต แม้แต่ตระกูล พ่อเคยพูดกับหมอดว่า ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดี ถึงชีวิตจะสิ้นไป ถึงชาติตระกูลจะสิ้นไป ก็ไม่สำคัญเท่าแผ่นดิน
ยายหนู : ก็ฝากฝังให้ลูกล่ะค่ะ โดยเฉพาะภักดีต่อในหลวง
หมอด : พ่อ กับรัชกาลที่ 8 ท่านก็รัก ผูกพันกันมาก
ยายหนู : ท่าน รักมากนะคะ ท่านรักพ่อมาก พ่อก็รักท่านเหลือเกิน วันไหนไม่ตามเสด็จฯ ท่านจะรับสั่งถามว่า ชิตไปไหน เวลาท่านจะหวีพระเกศา ท่านจะให้คุณชิตหวีถวาย
หมอด : พ่อจะเก็บพระเกศาจากหวี เอามาใส่ผอบไว้ที่บ้าน เก็บไว้บูชา
อิ๋ง : คุณหมอดเคยเห็นใช่ไหมคะ
หมอด : เคยเห็นค่ะ เป็นสีดำ
ยายหนู : ดิฉันก็นำไปลอยพร้อมเขา ไปลอยที่พัทยา
หมอด : มีคนอ่านหนังสืองานศพ แล้วก็บอกว่าอยากจะได้ มาขอ ถามว่าเก็บไว้หรือเปล่า มาถามแม่ แม่ก็บอกว่าลอยไปพร้อมกับพ่อแล้ว
อิ๋ง : ก็อ่านจากหนังสืองานศพ คุณหมอดบอกว่าจะไปจับผม ก็โดนดุใช่ไหมคะ
หมอด : ค่อ มดน่ะค่ะ มดเขาเอามาเล่น มดไม่รู้ เห็นใส่ไว้ในผอบ ของสูง
ยายหนู : เขา [คุณชิต] ก็บอกว่าเป็นของสูง ไม่อยากให้ตกลงไปบนพื้น เดี๋ยวคนก็จะไปกวาดกัน ก็ใส่ผอบ พอร่วงลงมาก็เก็บบูชาไว้
อิ๋ง : คุณชิตสอนให้จงรักภักดี แต่ที่ฎีกาขึ้นไปขอ 3 ครั้งนี้ เห็นจอมพล ป บอกเล่ากับลูกชาย....
หมอด : ตอนแรกก็ไม่เข้าใจ เรานึกว่ารัฐบาลไม่ส่งขึ้นไปถวายถึงสามครั้ง ครั้งแรกเขียนไปก็เงียบ ก็เขียนขึ้นไปอีก เขียนถึงสามครั้ง ก็เงียบ ก็เลยคิดว่ารัฐบาลคงไม่กล้าส่งขึ้นไปทูลเกล้าฯ ถวาย เพิ่งมารู้ภายหลัง ลูกชายก็เขียนไว้ เข้าใจว่าคุณนิตย์ [ที่จริงคุณอนันต์] แล้วเขาก็ให้สัมภาษณ์หนังสืออะไรก็จำไม่ได้ ว่าเขาเองก็ข้องใจจากที่รู้
อิ๋ง : ลูกชาย จอมพล ป.
หมอด : ค่ะ เขาจึงไปถามพ่อเขาที่ไต้หวัน [น่าจะเป็นที่ญี่ปุ่นมากกว่า] เรื่องมันเป็นความจริงยังไง เขายืนยันว่า ได้ส่งขึ้นไปทั้งสามครั้ง
ยายหนู : เขาบอกว่า ผู้ชายอกสามศอก ยังเลี้ยงลูกห้าคน หกคนไม่ไหว เขาจะช่วยเอง
อิ๋ง : จอมพล ป. หรือคะ
ยายหนู : ค่ะ แล้วเขาก็สั่งให้ ให้เงินเดือนยายหนู เดือนละสองพันบาท พอถึงวันที่ 1 ก็ไปเซ็นชื่อที่ทำเนียบ รับเงินมา
อิ๋ง : ตอนแรก จะไม่รับใช่ไหมคะ
หมอด : ทีแรกเลขาฯ ท่านจอมพล ป.
ยายหนู : คุณเปี่ยม
หมอด : คุณเปี่ยม เขาก็มาติดต่อผ่านน้าใหญ่ [ม.ล.สอางค์ นพวงศ์] น้าใหญ่เป็นน้องคุณป้าอิ้ง [ม.ล.สอิ้ง สิงหเสนี] บอกว่าท่านอยากจะให้ ให้เราขอ
ยายหนู : บอกว่า พ่อเราตายเพราะการเมือง ก็อยากจะช่วยเหลือครอบครัว
อิ๋ง : จอมพล ป. พูดผ่านเลขาฯ คุณเปี่ยม นี่บอกว่า คุณชิต ต้องตายเพราะการเมือง
ยายหนู : ถึงได้ต้องให้เงิน
หมอด : ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวเรา ทีแรกเราคิดว่า ไม่อยากจะรับ แต่แล้วก็มาคิดว่า ถ้าเรารับไว้ ก็จะเป็นประจักษ์พยานว่า แสดงว่าพ่อไม่ผิด เพราะว่ารัฐบาลเอง นายกฯ เอง ก็รู้ว่าพ่อไม่ผิด รัฐบาลหรือ นายกฯ จึงรับอุปการะพวกเรา ก็เลยรับ
อิ๋ง : เป็นเรื่องที่เศร้าที่สุดเลยนะคะ ยังหวังอยู่ไหมคะว่าคะ
หมอด : ที่เศร้าที่สุด คือ พ่อเป็นคนที่รักในหลวงมากที่สุด จงรักภักดีมากที่สุด และมาถูกกล่าวหาในกรณีที่ตรงกันข้าม คนอย่างพ่อน่ะหรือจะทำได้ [ร้องไห้] ท่านเสด็จฯ มาครั้งแรกก็รักพ่อ ให้พ่อเป็นม้า ให้ท่านขี่เล่น ตอนเสด็จฯ มาครั้งที่ 2 ท่านจะเสด็จฯไปไหน ก็จะให้พ่อตามเสด็จฯไปด้วย ท่านจะรับสั่งถามว่า "อ้าว! ชิตไม่ไปด้วยกันหรือ? ถึงแม้ไม่ใช่เวรพ่อ พ่อก็ต้องตามเสด็จฯ ด้วย อีก 2-3 ครั้ง พ่อไม่ได้แต่งตัว ท่านก็จะรับสั่งถามว่า "อ้าว! ไม่ไปด้วยกันหรือ" พ่อก็เลยต้องถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องตามเสด็จฯ ด้วยทุกครั้ง และเวลาตามเสด็จฯ ไปไหน มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายของดีๆ ท่านก็เอาให้พ่อ รับสั่งว่า "ชิต เอาไปฝากลูกๆ สิ" เราก็จะได้กินของดีๆ อย่างคราวเสด็จฯ สำเพ็ง ก็มีผลไม้แอปเปิ้ล องุ่น ถึงคราวมีการแสดงละครในวัง ท่านก็จะรับสั่งให้พ่อพาลูกๆ เข้าไปดู เราก็จะได้เข้าไปดูละครในวัง พ่อรักของเขามาก
ยายหนู : ท่านให้สูบบุหรี่ต่อหน้าพระที่นั่งได้นะคะ ท่านจะรับสั่งว่า "เอ้า! ชิตสูบสิ" แล้วท่านก็จะทรงตีไฟแช็กจุดให้ นั่งตีจนกว่าจะติด คุณชิตยิ่งรักท่านใหญ่เลยตอนนี้
อิ๋ง : ถ้า จอมพล ป. รู้ว่า ทราบดีว่า คุณชิต บริสุทธิ์ ทำไมถึงปล่อยให้ตายล่ะคะ
ยายหนู : ใครคะ
อิ๋ง : จอมพล ป. น่ะค่ะ
ยายหนู : อ้าว! ไม่ได้สิคะ ก็รัฐบาลเขาจะเอาอย่างนั้น
อิ๋ง : ก็แกเป็นรัฐบาลอยู่ไม่ใช่หรือคะ
ยายหนู : ค่ะ
อิ๋ง : ทำไมแกหยุดยั้งอะไรไม่ได้
ยายหนู : คงยั้งอะไรไม่ได้
อิ๋ง : ตอนนี้ ยังหวังว่าจะมีการพิสูจน์อะไรได้อีกหรือเปล่า
ยายหนู : ก็หวังว่า สักวันหนึ่ง จะกระจ่างได้ ... [น้ำตาซึม เสียงสั่น พูดไม่ออก]
หมอด : ว่าพ่อบริสุทธิ์ ที่จริงตอนนี้ก็มีหลายราย หลายๆฝ่ายแล้ว ที่รู้ว่าพ่อตายเพราะการเมือง ไม่ใช่พ่อมีความผิดจริง
ยายหนู : ทีนี้เขาต้องการ ล้มหลวงประดิษฐ์ฯ และพ่อไม่ใช่เวรมหาดเล็กห้องบรรทม เมื่อเขาต้องการคดีขึ้นมา เขาก็เอาซะก่อน
หมอด : ในวันนั้นเผอิญว่า พ่อเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม และก็ไม่ใช่เวรพ่อด้วย แต่พ่อก็เข้าไปอยู่ แต่เจ้าคุณลุงอนุรักษ์ฯ ท่านก็เสียใจจนถึงวันท่านสิ้น ว่าท่านเป็นคนทำให้พ่อตาย เพราะท่านให้พ่อไปรอวัดดวงพระตรา
ยายหนู : เพราะว่าเครื่องเพชรของท่าน [รัชกาลที่ 8] ทั้งหมดอยู่ในตู้เซฟ กุญแจตู้เซฟก็อยู่กับคุณชิต ท่านจะแต่งพระองค์ทีไร คุณชิตก็ต้องหยิบเครื่องเพชรออกมา ตราเหรียญตราอะไรต่ออะไร จะไปนอนบ้านก็ต้องเอาไปด้วย กุญแจน่ะ แต่ไม่ค่อยไปนอนหรอกนะคะ เพราะว่า ประเดี๋ยวท่านเรียกมั่ง อะไรมั่ง ท่านทรงประชวรคราวนี้ พระชนนีจะสวนให้ ท่านยังไม่ยอมให้ใครสวนเลย
อิ๋ง : ต้องให้คุณชิตสวนให้
หมอด : คือจะมีสองคนเท่านั้น ที่ท่านจะยอมให้ทำได้ คือพ่อ กับ สมเด็จพระชนนี
อิ๋ง : มีอะไรจะเล่าหรือจะคุยให้คนรุ่นหลังฟังอีกไหมคะ เรื่องต่างๆ ที่เกิดกับครอบครัว กับชีวิตเรา หรืออะไรทั้งสิ้น
ยายหนู : ชีวิต ก็ลำบากมาก ตอนทำงานคุณชิตก็ได้เงินเดือนสี่สิบบาทเท่านั้น ตอนที่ท่านจะเสด็จฯเมืองนอกครั้งหลัง สมเด็จพระชนนี รับสั่งถามว่า "ใครๆ ก็กลัดเหรียญตรา ทำไมคุณชิต ถึงไม่ได้กลัดเหรียญตราอย่างคนอื่นเขา" เขาก็กราบทูลว่ายังไม่ถึงขั้น ท่าน [รัชกาลที่ 8] รับสั่งว่า ยังไม่ถึงขั้นก็ให้ได้ แล้วท่านก็เลยให้ ตอนที่พวกทหารเรือเข้าแถวรับพระราชทานเหรียญตรา ก็โปรดเกล้าฯ ให้คุณชิตเข้าแถวต่อท้าย ถวายคำนับรับเลย โปรดเกล้าฯ เองจริงๆ
อิ๋ง : เมื่อหมดคุณชิตแล้ว ก็เหมือนกับว่าไม่มีใครคุ้มหัว ไม่มีหัวหน้าครอบครัว
หมอด : หมดสิ้นทุกอย่างน่ะค่ะ ต้องอดทน ต่อสู้กับความยากลำบาก การถูกเหยียบย่ำ
ยายหนู : พอทราบปุ๊บ ก็ไปบอกคุณแม่ คุณแม่ตอนนั้นก็ไม่ค่อยมีเงิน มาใหม่ๆ [กลับมาจากอังกฤษใหม่ๆ] ท่านก็ให้มาร้อย
อิ๋ง : ใครคะ
ยายหนู : คุณยาย
อิ๋ง : ยายเสมอ [หม่อมเสมอ สวัสดิวัฒน์ ลูกสาวคุณหญิงเนื่องฯ] น่ะหรือคะ
ยายหนู : คุณหญิงท่าน ก็ให้มาอยู่บ้านนี้ ท่านรับปากคุณชิต [ระหว่างถูกคุมขัง] ว่าจะดูแลให้ ลูกผู้หญิงจะให้ไปอยู่ที่ไหน
หมอด : ท่านตา [หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์] คุณยาย ก็เข้ามาช่วย ตอนนั้น ท่านตาก็เข้ามาทำผักที่สวนเสมา ให้แม่มาช่วยทำอะไรๆ และก็ไปไหนมาไหน กับคุณยาย
อิ๋ง : ตอนนั้นได้ทำเรื่องสวนเสมาด้วยหรือคะ
ยายหนู : ค่ะได้ทำค่ะ ท่านก็บอกให้มาช่วยท่านหน่อย
อิ๋ง : ตาก็เกือบโดนด้วยไม่ใช่หรือคะ ป้าหน่อย [ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัฒน์] เล่า หาว่าเป็นพวกหลวงประดิษฐ์ฯ ตาเขียนจดหมายร้อยกว่าหน้ากราบบังคมทูลฯ ในหลวงพระองค์นี้ 118 หน้า อธิบายว่าคุณชิต และหลวงประดิษฐ์ฯ และทุกคนบริสุทธิ์ แน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำ ป้าหน่อยบอกว่า ไม่มีคำตอบเลย คือคิดว่าในหลวงพระองค์นี้ทรงคิดว่าเราผิดใช่ไหม
หมอด : คิดว่า ท่านต้องรู้อยู่แก่ใจ คิดว่าท่านก็ทรงทราบว่าเราไม่ผิด หมายถึงว่าพ่อนะคะ มีความจงรักภักดี แต่ท่านก็อาจจะพูดอะไรไม่ได้
ยายหนู : ตอนที่หมอดเข้าไปสอนหนังสือเด็กกำพร้า แล้วก็เข้าไปในวัง ถามเจ้าคุณอนุรักษ์ฯ ว่าท่านรู้ไหมว่าหมอดเป็นลูกใคร เจ้าคุณอนุรักษ์ฯ บอกว่าท่านก็รู้
หมอด : ตอนนั้นไปสอนเด็กข้างกองขยะ เด็กนักเรียนข้างกองขยะถนนดินแดง กับเพื่อนๆ ก็ไปทำโรงเรียนสอนวันอาทิตย์ แต่ก่อนนี้ก็สอนทุกวัน ไปเช่าบ้านเล็กๆ เอาเด็กๆข้างกองขยะมาสอน ใครว่างชั่วโมงไหนก็มาสอน ตอนนั้นปี 2502 คอมมิวนิสต์แพร่ระบาดในพวกสลัม ก็คิดกันว่าจะทำยังไงถึงจะถึงใจพวกเด็กๆพวกนี้ ดึงครอบครัวเขาไว้ได้ ก็คิดว่ามีในหลวงเท่านั้น ที่จะให้พวกเขาจงรักภักดี จะต้องให้เขาเข้ามามีความจงรักภักดีต่อในหลวง จึงคิดขอเข้าเฝ้าฯ ก็ทำหนังสือไป พอดีเพื่อนคุณอาเขาอยู่ในวัง ปรึกษากันเขาก็ให้ทำหนังสือขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตพาเด็กๆเข้าเฝ้าฯ ตอนแรกคิดว่าจะให้เข้าเฉพาะตัวแทน แต่แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พาเข้าเฝ้าฯได้ทุกคน ทีนี้เด็กๆ ก็ไม่มีเครื่องแต่งกายดีๆ ไม่มีรองเท้า สำนักพระราชวังบอกว่า ไม่เป็นไร ให้มาตามสภาพที่เป็นอยู่ แล้วก็พาเข้าเฝ้าฯ ครั้งแรก วันประสูติเจ้าฟ้าชาย ปี พ.ศ. 2505 คราวนั้นก็ต้องส่งรายชื่อ ครู อาสาสมัคร ที่เข้าไป
อิ๋ง : ท่านรับสั่งอะไรกับคุณหมอดไหม
หมอด : ท่านไม่ได้รับสั่งอะไร รับสั่งแต่ชมเชยที่มาทำงานนี้
อิ๋ง : ยายหนูเคยได้เข้าเฝ้าฯ ท่านบ้างไหม
ยายหนู : ในหลวงหรือคะ .... ตอนมีงานที่วัดสามปลื้ม.... เรี่ยไรเงินสองหมื่น คุณหนึ่ง [ม.ร.ว.สายสิงห์ ศิริบุตร] ก็ถวาย แล้วก็ให้อิฉันเข้าไปถวาย และท่านก็พระราชทานของตอบแทน เป็นพระ ยายหนู่กลับมาก็มาให้คุณหนึ่ง เข้าไปรับจากพระหัตถ์เลย รับใกล้ๆเลย รูปยังมี [ยิ้ม ภูมิใจ]
อิ๋ง : แล้วท่านทรงทราบ หรือทรงจำได้ไหมว่า ยายหนูเป็นใคร
ยายหนู : ไม่ทราบ คงไม่รู้
อิ๋ง : คิดว่าไม่ทรงทราบใช่ไหมคะ แล้วยายหนูรู้สึกอย่างไรตอนนั้น
ยายหนู : ก็ไม่รู้สึกยังไง เขาให้ไปเข้าเฝ้าฯ รับ ก็ไปรับ อีกหนหนึ่ง ก็ไปใกล้ๆ อย่างนี้เลย ตอนคุณหญิงเจือถวายโฉนดที่ดิน คุณพี่ใหญ่ คุณหญิงเจือ ก็ชวนไปด้วย ยายหนูก็ไป เราสกุลสิงห์ ต้องไปเพราะคุณหญิงเจือจะถวายที่ดิน [ที่ดินสำหรับก่อสร้างโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แห่งที่ 1]
อิ๋ง : ถ้ามีโอกาสกราบบังคมทูลโดยตรง จะพูดไหมคะ
ยายหนู : พูดยังไง
อิ๋ง : พูดอย่างเป็นธรรมชาติ
ยายหนู : ว่าเราลำบาก
อิ๋ง : ค่ะ
ยายหนู : แหม ลำบากมากเหลือเกิน
อิ๋ง : อยากให้ท่านรับรู้ไหมว่า ..... [ข้อ ความที่เหลือของคำถามนี้ อีกประมาณ 1 บรรทัด ผมตัดสินใจเซ็นเซอร์ออก ความจริง ผมไม่คิดว่าเป็นข้อความผิดกฎหมายอะไร แต่ว่า ในบรรยากาศปัจจุบัน ผมเห็นว่าควร "เผื่อ" ไว้ ไม่ให้คุณ "อิ๋ง" ผู้ถาม (และผมในฐานะผู้พิมพ์เผยแพร่) เสี่ยงกับความเดือดร้อน - สมศักดิ์]
หมอด : ท่านย่อมต้องรู้แก่ใจดี คิดว่านะคะ คิดว่าท่านรู้ว่าพ่อไม่ผิด แต่เราก็รู้หน้าที่ของท่าน ฐานะของท่านอยู่ในขณะนั้นว่า ถึงแม้ท่านจะรู้สึกอย่างไร รู้ยังไง ท่านก็คงจะทำอะไรไม่ได้
ยายหนู : เขาบอกว่า ในวันพระราชทานปริญญา เจ้าคุณอนุรักษ์ฯ บอกว่าท่านยังยิ้มๆ ยิ้มในหน้า ตอนเขาเรียกชื่อ
อิ๋ง : เรียกชื่อ คุณหมอดหรือคะ
ยายหนู : ค่ะ
อิ๋ง : ยิ้มในหน้ายังไง ยิ้มให้หรือคะ
ยายหนู : ก็ท่านเป็นคนส่งให้นี่คะ ถามเจ้าคุณอนุรักษ์ฯ ว่าท่านรู้หรือ บอกว่าท่านรู้
อิ๋ง : อิ๋ง งงว่า ยายหนูก็ยังจงรักภักดี ความรู้สึกนี้มาจากไหน เพราะยายหนูรับปากกับคุณชิตไว้?
ยายหนู : ยายหนูเองก็เคยอยู่ในวังมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมาได้กับคุณชิต คุณชิตก็รักในหลวงยังกะอะไร มีอะไรแกก็กลับมาเล่าให้ฟัง
อิ๋ง : ทุกวันนี้ยังรักในหลวง ในหลวงองค์นี้?
ยายหนู : ก็รักเหมือนกัน
No comments:
Post a Comment