Wednesday, December 3, 2014

กรณี เปรม เผยแพร่พระราชดำรัสในโต๊ะเสวยของในหลวง (มีนาคม 2530) และ สมัคร-คึกฤทธิ์ "อัด" เปรม จนสมัคร โดนปาระเบิดใส่บ้าน

 
ใคร ที่เข้าร่วมการต่อต้านรัฐประหาร ตั้งแต่แรกๆหลังรัฐประหาร (ปลาย 2549 - ต้น 2550) สมัยที่ยังเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย (คนวันเสาร์, พิราบขาว, เครือข่าย 19 กันยา) อาจจะพอจำได้ว่า ช่วงนั้น มีการนำเอาบทความของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ "อัด" เปรม บทความหนึง ออกมาแจกจ่ายกัน (ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นผลงานของ "คนวันเสาร์" แต่ไม่แน่ใจนะครับ ถ้าจำพลาดขออภัย)

เนื้อหา ของบทความ ก็เป็นในลักษณะที่ว่า วิพากษ์ เปรม "ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง" แอบอ้างเอาพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้เพื่อประโยชน์การเมือง อะไรทำนองนั้น (มรว.คึกฤทธิ์ ใช้คำว่า "ตู่พระราชดำรัส" ในบทความนั้น)

นี่คือตัวบทความของ มรว.คึกฤทธิ์ ดังกล่าว มาจากคอลัมภ์ "ซอยสวนพลู" ใน สยามรัฐ ฉบับวันที่  11 มีนาคม 2530 (สมัยนั้น ที่เอามาเผยแพร่กัน ที่ผมเห็นตอนแรก ก็เป็นการพิมพ์ใหม่ใส่ใบปลิว ตอนหลังดูเหมือนจะมีคนไปถ่ายรูปบทความโดยตรงมาแจก แต่รูปข้างล่างนี้ ผมถ่ายเองจากห้องสมุด)




ที่ผมจะ "เล่าเรื่องด้วยภาพ" ต่อไปนี้ คือ "ที่มาที่ไป" ของกรณีนี้


เรื่อง ของเรื่องเริ่มมาจากว่า ต้นเดือนมีนาคม 2530 มีข่าวออกมาว่า เปรม ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่เคยผ่านการเลือกตั้งมาได้ 7 ปีเต็มพอดี  มีคำสั่งให้เอาพระราชดำรัสอันหนึ่งออกเผยแพร่ ตอนแรกสุดที่ข่าวเล็ดลอดออกมา มีความคลาดเคลื่อนว่า เป็นพระราชดำรัส ของ "พระเทพ" ดังพาดหัวข่าว ของ สยามรัฐ ฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2530



ตาม รายงานข่าว "พระเทพ" ทรงตรัสกับผู้สื่อข่าว บนโต๊ะเสวย (คือระหว่างรับประทานอาหารร่วมกัน) ในระหว่างที่ทรงโดยเสด็จในหลวงไปเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมโครงการในพระราชดำริ (ดู สยามรัฐ ข้างบน มุมซ้ายด้านบน เป็นภาพในหลวงและพระราชินีกำลังเสด็จเยี่ยมเชียงใหม่ในครั้งนั้น) โดยทรงรับสั่งทำนองว่า การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นของฝรั่ง ถ้าจะใช้กับเมืองไทย ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม หรือตามคำของคึกฤทธิ์ ในบทความดังกล่าวคือ

ระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยนั้นยุ่งยาก เพราะเราไปลอกแบบฝรั่งเอามาใช้ ถ้าทำแบบไทยๆ ก็คงจะยุ่งยากน้อยลง

แต่ภายใน 2 วันต่อมา สยามรัฐ ก็รู้ว่า จริงๆแล้ว พระราชดำรัส ที่ เปรม สั่งให้เผยแพร่นั้น ไมใช่ของ "พระเทพ" แต่เป็นของในหลวง ดังพาดหัว สยามรัฐ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2530 ดังนี้



อย่าง ที่บอกว่า ขณะนั้น เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีมาถึง 7 ปีเต็มๆ โดยไม่เคยลงเลือกตั้งเลย แม้จะมีเสียงรียกร้องหนาหูขึ้นเรื่อยๆว่า น่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเสียที ให้เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เปรมก็๋ไม่มีทีท่าสนใจอยากจะทำ (ผมจำได้ คร้งหนึ่ง เปรม เคยให้สัมภาษณ์ทำนองว่า เบื่อการเป็นนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ได้โต้กลับทันทีว่า "เบื่อ ก็ลาออกสิ" อะไรทำนองนั้น) ดังนั้น การเผยแพร่พระราชดำรัสที่มีเนื้อหาในลักษณะนี้ของเปรม จึงมี "นัยยะทางการเมือง" ทีสำคัญมาก

ฝ่าย ค้านขณะนั้น นำโดยสมัคร สุนทรเวช  และอุทัย พิมพ์ใจชน มองเห็นนัยยะทางการเมืองดังกล่าว จึงออกมาโจมตีเปรมอย่างรุนแรง ดังพาดหัวข่าว มติชน ฉบับวันที่ 5 มีนาคม 2530 ดังนี้



ปรากฏ ว่า วิทยุในความควบคุมของทหาร ก็ออกมาโจมตีตอบโต้ฝ่ายค้านในเรื่องนี้อย่างหนัก แต่ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ สมัคร ก็ไม่ลดละ ยังคงวิพากษ์เปรมต่อไป ดังพาดหัว มติชน ฉบับวันที่ 8 มีนาคม 2530 ดังนี้



นี่คือ "แบ๊คกราวน์" หรือปริบทของบทความ "ซอยสวนพลู" ของคึกฤทธิ์ ที่พูดถึงข้างต้น ที่ตีพิมพ์ใน สยามรัฐ วันที่ 11 มีนาคม 2530


วันรุ่งขึ้น 12 มีนาคม 2530 หลังบทความ "ซอยสวนพลู" ทั้ง มติชน และ สยามรัฐ ก็นำบทความนี้ มาพาดหัว "อัดเปรม" (สมัยนั้น ยังไม่รู้จักคำว่า "จัดหนัก" ไม่เช่นนั้น คงจะมีพาดหัว โดยใช้คำนี้แล้ว ในภาพข้างล่างนี้ จะเห็นว่า มติชน ใช้คำว่า "อัดเปรมเต็มรัก" ส่วน สยามรัฐ ก็พาดหัวแรงพอๆกัน "การเมืองช่วงนี้ ไม่มีอะไรจะเลวเหมือน" ก่อนหน้านั้น มติชน ดังที่เห็นข้างบน ก็ใช้คำ สมัคร "ซัดเปรมเต็มหมัด" และ "ซัดเปรมไม่เลี้ยง" หรือ "วิทยุทหารอัดฝ่ายค้าน")



ถ้าดูพาดหัว สยามรัฐ วันที่ 12 มีนาคม ที่ผมเพิ่งแสดงให้เห็นนี้ จะเห็นว่า มีพาดหัวตัวเล็กประกอบว่า "สมัครแว้บเข้าบ้านสวนพลู" คือ ในวันเดียวกับที่บทความ "ซอยสวนพลู" ของคึกฤทธิ์ ออกมา (11 มีนาคม) สมัครได้ไปพบคึกฤทธิ์ พูดคุยทางการเมืองในเรื่องนี้ด้วย

ปรากฏว่า จากการออกมา "อัด" เปรมอย่างหนักเช่นนี้ ในวันที่ 12 มีนาคม นั้นเอง ก็มี "มือลึกลับ" ปาระเบิดใส่บ้านสมัคร สุนทรเวช


วันรุ่งขึ้น (13 มีนาคม) ทั้ง มติชน และ สยามรัฐ ก็พาดหัวเรื่องนี้ แน่นอน ในสถานการณ์ขณะนั้น คนจำนวนมากก็เชื่อว่า คงเป็นฝีมือของทหาร แต่ "บิ๊กจิ๋ว" ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ก็ออกมาปฏิเสธ ส่วนพาดหัวของ มติชน ที่ว่า "ตำรวจรู้ตัวมือระเบิดแล้ว" นั้น ก็เป็นไป "ตามฟอร์ม" ของการแถลงของตำรวจ เพราะจริงๆแล้ว ในที่สุด ก็ไม่มีการจับใครได้




ผม จะขอจบการ "เล่าเรื่องด้วยภาพ" เพียงเท่านี้ สิ่งที่ควรสังเกตคือ ตลอดเวลาการ "ดีเบต" ในครั้งนั้น เป็นเรื่องของความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม ของการที่เปรม นำพระราชดำรัสดังกล่าวออกเผยแพร่ แต่ส่วนเนื้อหาของพระราชดำรัสเอง โดยเฉพาะในประเด็น (ตามคำของคึกฤทธิ์) ที่ว่า "ระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยนั้นยุ่งยาก เพราะเราไปลอกแบบฝรั่งเอามาใช้ ถ้าทำแบบไทยๆ ก็คงจะยุ่งยากน้อยลง" นั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด 



No comments:

Post a Comment