Somsak Jeamteerasakul
แต่ข้อความบางตอนในคำสัมภาษณ์ ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 เมษายน 2554) ได้กล่าวถึงประเด็นที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทยปัจจุบัน ในลักษณะที่ผมเห็นว่า ถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความไม่ยุติธรรมที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้นอีก ผมหมายถึงข้อความต่อไปนี้ ในคำให้สัมภาษณ์ (เริ่มจากนาทีที่ 3.23 เป็นต้นไป ในคลิป YouTube นี้ ขอบคุณ CiNNtv1 สำหรับการอัพโหลด http://www.youtube.com/watch?v=BBpqpjHrqk4 )
จะ เล่าไป ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่อยากพูดถึงใครว่าใครดีใครเลว ไม่รู้ เพราะไม่เคยคบนักการเมือง แต่ว่า รู้แต่ว่า เหตุการณ์ปีที่แล้ว ที่มีการเผาบ้านเผาเมืองกัน อันนั้นนำความทุกข์มาสู่พระเจ้าอยู่หัว [และ]สมเด็จฯเหลือเกิน พระเจ้าอยู่หัวนี่ จากที่ทรงหัดเดินได้น่ะ ตอนนั้นน่ะ ทรงทรุดเลย เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ่บเลย สมเด็จฯก็เสียพระทัยมากเหลือเกิน ท่านรับสั่งว่า 'คราวที่เราถูกเผาเมืองนั้น คือสมัยเสียกรุงต่อพม่า กรุงศรีอยุธยา แต่คราวนี้ สะเทือนใจยิ่งกว่า เพราะเป็นการที่คนไทยเผาเมืองไทยเอง'
ก่อนอื่น จะเห็นว่า แม้จะทรง "ออกตัว" ว่า "ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง" แต่คำสัมภาษณ์ตอนนี้ มีลักษณะการเมืองอย่างชัดเจนและมากด้วย (อันที่จริง ถ้าพูดถึง "การเมือง" ในความหมายกว้าง อย่างที่ยอมรับทั่วไปในวงการศึกษาวิชาการปัจจุบัน การสัมภาษณ์ทั้งหมดก็เป็นเรื่อง "การเมือง" ในตัวเองอยู่แล้ว) ผมขอย้ำว่า การที่ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ หรือมีพระราชดำรัสทางการเมืองแบบนี้ ในสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและสังคมปัจจุบัน เป็นเรื่อง "ไม่แฟร์" เลย มีหนังสือพิมพ์หรือทีวีใด จะกล้าแสดงความเห็นโต้แย้งด้วยตัวเองหรือเผยแพร่ความเห็นโต้แย้ง ไม่ว่า นสพ.หรือทีวีนั้น หรือคนอื่นๆ จะไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือไม่ว่าคำสัมภาษณ์หรือพระราชดำรัสนั้นจะสามารถโต้แย้งได้เพียงใดก็ตาม ทั้งในแง่ข้อมูลหรือเหตุผล?
ประการต่อมา ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงอ้างอิงถึงพระสุขภาพกายและใจของทั้งในหลวงและพระราชินี ว่าทรุดโทรมลงอย่างหนัก จากการที่มีการ "เผาบ้านเผาเมือง" เกิดขึ้นเมื่อปีกลาย
ในกรณีในหลวงนั้น เนื่องจากมีส่วนเกียวข้องกับพระพลานามัยในแง่ธรรมชาติ จึงยากจะประเมินว่า การที่ทรง "ทรุด" ถึงขั้น "นอนแบ่บ" นั้น เกิดจากที่ทรงเห็นการ "เผาบ้านเผาเมือง" หรือเกิดจากโรคาพยาธิอื่น ผมจึงขอละเว้นที่จะแสดงความเห็นต่อปัญหาพระพลานามัยของในหลวงโดยตรง และต้องถือว่าเรื่องที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงเล่าในส่วนนี้ เป็นการตีความเชิงการเมือง (political interpretation) หรือแสดงความเห็นทางการเมือง ของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ พูดง่ายๆคือ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เองทรงเห็นว่า การ "เผาบ้านเผาเมือง" ทำให้ในหลวง "ทรงทรุด" ถึงขั้น "เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ่บเลย"
ใน กรณ๊พระราชินีนั้น แม้คงเชื่อได้ว่า ทรง "เสียพระทัย" และทรงมีรับสั่งเปรียบเทียบการ "เผาบ้านเผาเมือง" ปีกลาย กับการ "เสียกรุง" จริงดังที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงเล่า เพราะเรามีหลักฐานแวดล้อมอื่น ที่ทำให้ทราบว่า พระราชินีทรงสนับสนุนผู้ที่มีความเห็นวิจารณ์การชุมนุมของเสื้อแดง ดูภาพ พระราชหัตถเลขา ที่มีถึงคุณนภัส ณ ป้อมเพ็ชร์ ข้างล่าง (ในจดหมายคุณนภัส ถึง CNN มีข้อความโจมตีการชุมนุมของเสื้อแดงหลายตอน การแสดงความไม่พอใจ CNN ของคุณนภัส อยู่บนพื้นฐานของการแสดงความไม่พอใจการชุมนุมของเสื้อแดง ดูจดหมายคุณนภัส ที่นี่ http://202.183.165.22/view/48815/45 )
อย่าง ไรก็ตาม เนื่องจากพระราชินีทรงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และในเมื่อการอ้างพระราชดำรัสพระราชินีโดยฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เป็นไปในลักษณะที่ทรงเห็นชอบด้วย (endorse) กับพระราชดำรัสดังกล่าวอยู่แล้ว ในที่นี้ ผมจึงแสดงความเห็นต่อ คำให้สัมภาษณ์ของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ข้างต้นทั้งหมด ในฐานะที่เป็นความเห็นของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เอง
นี่ไม่ใช่ครั้ง แรกที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงแสดงทัศนะของพระองค์ต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปีกลายในลักษณะนี้ เพียง 2 สัปดาห์เศษหลังการชุมนุมยุติลงจากการปราบปรามของรัฐบาล (วันที่ 6 มิถุนายน 2553) ทรงมีพระราชดำรัสต่อคนไทยในนิวยอร์คว่า (ดูรายงานข่าวที่นี่ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9530000078685 ข้อความจากพระราชดำรัสข้างล่างนี้ ผมถอดจากคลิปประกอบรายงานข่าว เริ่มที่นาทีที่ 1.07)
เรื่อง การเมือง ข้าพเจ้าไม่รู้ด้วยหรอก ว่า ใครจะเกลียดใคร ใครอยากจะชิงดีชิงเด่นกับใคร แต่ว่า ทำไปนี่ อย่างน้อยน่าจะมีจรรยาบรรณซักนิดนึง สงสารประชาชนตาดำๆ ซักนิดนึงว่าจะเดือดร้อนกันแค่ไหน อันนี้ที่ผ่านมา นอกจากจะเดือดร้อนเรื่องความเจ็บ ความป่วยแล้ว ก็ยังเดือดร้อนทางด้านธุรกิจ คือว่าการที่มีประท้วงนานๆ มีความรุนแรงเกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจของเราเดือดร้อน ซึ่งก็กระทบเศรษฐกิจของประเทศไทย
จะเห็น ว่าเนื้อหาของพระราชดำรัสที่นิวยอร์คกับพระราชดำรัสในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" เป็นไปในทางเดียวกัน คือทรงวิจารณ์การชุมนุมของเสื้อแดง โดยเฉพาะในส่วนที่เกียวกับผลกระทบต่อ "ภาคธุรกิจ" แม้แต่เรื่องการ "เผาบ้านเผาเมือง" นั้น ความจริง ก็ดังที่รู้กันว่า ไม่ใช่ "บ้านเมือง" ของประชาชนธรรมดาจริงๆ ไม่ใช่แม้แต่ตลาดหรือร้านค้าบ้านช่องธรรมดา แต่คือ ศูนย์การค้าย่านธุรกิจระดับสูง แน่นอน เป็นสิทธิของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ที่จะหยิบยกเอาประเด็นผลกระทบต่อ "ภาคธุรกิจ" หรือการเผาศูนย์การค้าย่านธุรกิจระดับสูงขึ้นมาวิจารณ์
แต่สิ่งแรกที่น่าจะสะดุดใจผู้ติดตามการเมืองในระยะไม่กี่ปีนี้ ก็คือ เหตุใดในระหว่างหรือหลังการ "ประท้วงนานๆ" (คำของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ข้างต้น) ในกรณีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551 ซึ่งรวมถึงการยึดครองสถานที่ราชการสำคัญที่สุดคือทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งยวดของ "ภาคธุรกิจ" ของประเทศ (และมากยิ่งกว่าภาคธุรกิจ) คือสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์จึงไม่ได้ทรงมีพระราชดำรัสในลักษณะเดียวกัน? อันที่จริง เราทราบกันดีว่า ทรงโดยเสด็จพระราชินีในงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ประท้วงชาวพันธมิตรคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ในระหว่างที่การชุมนุมของพันธมิตรยังไม่ยุติด้วย (และถ้าข้อมูลจากโทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ถูกต้อง ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และนายแพทย์ชัยชน โลว์เจริญกุล เป็นผู้ขอให้พระราชินีเสด็จด้วยพระองค์เองด้วยซ้ำ)
ที่ สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ทั้งในพระราชดำรัสที่นิวยอร์คและการสัมภาษณ์ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" เหตุใดจึงไม่ทรงเอ่ยถึงเลย ถึงการที่มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลถึงเกือบ 100 คน และพิการบาดเจ็บอีกเกือบ 2 พันคน? ถ้าอะไรจะน่า "สะเทือนใจ" ที่สุดจากเหตุการณ์พฤษภาคมปีกลาย ก็ควรจะเป็นเรื่องนี้ไม่ใช่หรือ? ยิ่งกว่าเรื่องที่มีการเผาย่านธุรกิจระดับสูง (ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าฝีมือใคร แต่ต่อให้สมมุติว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมก็ตาม)?
การ ที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงแสดงออกซึ่งความสะเทือนใจกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม พันธมิตร 1 คนในปี 2551 ถึงกับโดยเสด็จในงานพระราชทานเพลิงศพ เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้อยู่ (ผมเองก็สะเทือนใจ) แต่กับผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ที่ไม่ทรงเอ่ยถึงเลย แต่กลับทรงเอ่ยเฉพาะเรื่องการเผาตึกราม ที่ไม่ใช่ "บ้านเรือน" ด้วยซ้ำ แต่เป็นศูนย์การค้าชั้นสูง ออกจะเป็นอะไรที่ผมเข้าใจยากอยู่สักหน่อย
ปล. ในระหว่างเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สมเด็จพระเทพ ได้ทรงให้สัมภาษณ์ว่า "การฆ่าฟันหรือทำรุนแรงเป็นเรื่องไม่ดี การเสียทรัพย์สินไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน อยากให้เลิกฆ่าฟัน เลิกรุนแรงเพราะว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน" ในขณะที่บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวกับวิกฤติเดือนพฤษภาคม 2535 มีความซับซ้อนมากกว่าที่มักจะนำมาโฆษณาประชาสัมพันธ์กัน เฉพาะข้อความพระราชดำรัสของพระเทพที่ว่า "การเสียทรัพย์สินไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน" นี้ ต้องถือว่าถูกต้องและเหมาะสมกว่าการยกประเด็น "เผาบ้านเผาเมือง" ขึ้นมาไฮไลต์ แน่ นอนในระหว่างเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ที่เพิ่งผ่านมา ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า สมเด็จพระเทพเองก็ไม่ได้ทรงให้สัมภาษณ์ในลักษณะเดียวกันนี้อีก
No comments:
Post a Comment