Somsak Jeamteerasakul
มี เนื้อร้องเพลงชาติเข้าประกวดในครั้งนั้น 614 ชิ้น (ตัวเลขคนส่งประกวดจริงๆน้อยกว่านี้ เพราะบางคนส่งมากกว่า 1 ชิ้น) คณะกรรมการพิจารณา ที่คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้น ประกอบด้วย พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นประธาน พ.อ.หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต, พ.อ.หลวงพรหมโยธี, หลวงวิจิตรวาทการ และ วิลาศ โอสถานนท์ เป็นกรรมการ นายชุบ ศาลยาชีวิน เป็นเลขานุการ ได้พิจารณาแล้วคัดเหลือเพียง 8 ชิ้น ส่งให้คณะรัฐมนตรี ชี้ขาด
ต่อไปนี้ คือ บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 ธันวาคม 2482 ที่พิจารณาตัดสิน ให้เนื้อร้องเพลงชาติของหลวงสารานุประพันธ์ (ในนาม "กองทัพบก")เป็นผู้ชนะ พร้อมกับแก้ไขเนื้อเพลงบางส่วน (ขอให้สังเกตว่า หลวงพิบูลสงคราม หรือต่อมาคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้เสนอแก้เนื้อร้อง จาก "ประชาธิปไตย" เป็น "ประชารัฐ")
๑๘. เรื่องการพิจารณาเนื้อร้องเพลงชาติ
ปรึกษา เรื่องคณะกรรมการพิจารณาเนื้อร้องเพลงชาติรายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาลงมติให้พิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งมีผู้ส่งเข้าประกวดรวม ๖๑๔ ราย แล้วให้เสนอผลการพิจารณาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
บัด นี้ คณะกรรมการได้ประชุมปรึกษาเรื่องการคัดเลือกเนื้อร้องเพลงชาติเสร็จแล้ว เห็นว่าส่วนมากแต่งได้ไม่ดีถึงขนาด และปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ตามที่ทางราชการได้ประกาศให้ทราบไว้ คงคัดเลือกเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งสมควรจะได้รับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีรวม ๘ บท จึงขอเสนอมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา
พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร : โดยมากแต่งมาผิดกติกา และแต่งกันยาวๆ ร้องไม่ได้ ที่ร้องได้คือของกองทัพบก
หลวงวิจิตรวาทการ : ขอชี้แจงในฐานเทฆนิค คือ ถือหลักว่าต้องแต่งให้ร้องได้และชัดถ้อยชัดคำ ไม่ใช่ว่าถูกตามฉันทลักษณะแล้วร้องไม่ได้ ได้ตรวจดูแล้ว ของกองทัพบกมีเพี้ยนอยู่ ๓ แห่ง ของนายชั้น จิตวิภาคเพี้ยนมากจนร้องไม่ได้ เห็นควรตัดออกได้ ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์สระอะร้องไม่ได้ และเพี้ยน ๔ แห่ง ของนายฉันท์ ขำวิไล เพี้ยน ๖ แห่ง ของนายอ่ำ ศรีเปาระยะ เพี้ยน ๙ แห่ง ของนายเสริม กำจัดแจ่ม เพี้ยน ๑๖ แห่ง ของนางสาวประสาน วาสิกะสิน สำหรับในเชิงกลอนดีที่สุดในจำพวกที่แต่งมา หากมีเสียงเพี้ยนถึง ๑๑ แห่ง ฉะนั้นจึ่งขอสนับสนุนเนื้อร้องของกองทัพบกและใคร่จะขอแก้บรรทัดที่สองวรรค หน้าเป็น “อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล” และบรรทัดแรกวรรคหลัง คำว่าประชาธิปไตย ก็อยากจะขอแก้ แต่จนใจที่ไม่รู้จะหาคำอะไรมาใส่ให้ จะใส่ว่าอนาธิปไตย เดี๋ยวก็จะร้องเป็นอานาธิปไตยไป
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ : เอาแบนด์มาทำเพลงฟังดูทีก่อน
หลวงวิจิตรวาทการ : บรรทัด ๓ วรรคหลังคำว่า “ไม่ให้ใครข่มขี่” ถ้าเปลี่ยนเป็น “ไม่ให้ใครย่ำยี” ร้องได้ชัดดีขึ้น แต่ไม่ถูกในฉันทลักษณะ
หลวงพิบูลสงคราม : เปลี่ยนเป็นราวีได้ไหม
หลวงวิจิตรวาทการ : เปลี่ยนเป็นราวีร้องได้ดีขึ้น แต่ผิดในวิธีกลอน เพราะในที่นี้ต้องใช้อักษรสูง และคำว่า “ราวี” จะดูเป็นลิเกไป
หลวงพิบูลสงคราม : คำว่า “ขลาด” เปลี่ยนเป็น “หวาด” ได้ไหม
หลวงวิจิตรวาทการ : ร้องได้ และดูหนักแน่นขึ้นอีก
หลวงพิบูลสงคราม : บรรทัดแรกวรรคหลัง เปลี่ยนเป็น “เป็นประชารัฐไทยของไทยทุกส่วน” ดีไหม
ที่ประชุมตกลงว่า เนื้อร้องของกองทัพบกเหมาะสมที่สุด และเมื่อได้แก้ไขเล็กน้อยเพื่อให้ดียิ่งขึ้นทั้งเนื้อความและเนื้อร้องแล้ว ได้ลงมติเห็นชอบพร้อมกันให้ประกาศรัฐนิยมให้ใช้บทเพลงนั้นเป็นเนื้อร้องเพลง ชาติ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒ เป็นต้นไป คือ
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย
ส่วน ทำนองเพลงชาตินั้น ให้คงใช้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ต่อไป อนึ่งให้แสดงความขอบใจไปยังประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องเพลงชาติ ด้วย ในการที่ได้ปฏิบัติการในเรื่องนี้ไปโดยเรียบร้อย
ส่วน ภาพข้างล่างนี้ เป็นต้นฉบับลายมือของหลวงสารานุประพันธ์ ที่ อ.พฤฒิพล ประชุมผล แห่ง "พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย" กรุณานำออกเผยแพร่ทาง facebook ( http://www.facebook.com/photo.php?fbid=138360866230412&set=a.103840809682418.6548.100001694983517&ref=nf ) ผมขออนุญาตนำมาให้ดูเปรียบเทียบ โดยที่ในรูปซึ่ง อ.พฤฒิพล นำออกเผยแพร่ ได้ใส่รูป พระเจนดุริยางค์ ผู้ประพันธ์ทำนองไว้ด้วย (ดูตาม link ที่เพิ่งให้) ผมขออนุญาตถือวิสาสะ เอารูปพระเจนฯออก เพื่อให้เห็นแต่ลายมือของหลวงสารานุประพันธ์ เท่านั้น ต้องขอขอบคุณ อ.พฤฒิพล อย่างสูงมา ณ ที่นี้ อนึ่ง ควรเข้าใจว่า ลายมือส่วนที่แก้ไขเนื้อร้องนี้ จะต้องเขียนขึ้น หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 ธันวาคมดังกล่าว ไม่่ใช่แก้ตั้งแต่ก่อนส่งประกวด เพราะคำแก้ไขเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นของหลวงสารานุประพันธ์เอง แต่เป็นของ หลวงพิบูล และหลวงวิจิตรวาทการ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนั้น (ดูบันทึกการประชุม ครม. ข้างต้น)
No comments:
Post a Comment